สทนช.เร่งแผนจัดการ ทรัพยากรประมงลุ่มน้ำโขง ก่อนชงเวทีภูมิภาค31ต.ค.
สทนช.ชงแผนบริหารจัดการทรัพยากรประมงลุ่มน้ำโขง เสนอเวทีระดับภูมิภาค 4 ชาติ 31 ต.ค. นี้ หวังหาแนวทางปฏิบัติร่วม 4 ประเทศ มุ่งเป้าลดภาวะคุกคามสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ระดับลุ่มน้ำด้านการพัฒนาและจัดการประมง 5 ปี (2561-2565) เมื่อเดือน พ.ย. 60 และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติงานขึ้น เพื่อนำยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปสู่การใช้งาน พร้อมทั้งได้มีการจัดประชุมภายในแต่ละประเทศสมาชิก ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย เพื่อหารือให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดทำร่างแผนปฏิบัติงานของ MRC ซึ่งมีความสอดคล้องกับการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ดังนั้น สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMCS) จึงได้มีการประชุมพิจารณาร่างกลยุทธ์การพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในลุ่มน้ำโขง เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมประมง สำนักนโยบายและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน เป็นต้น
ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) จะนำผลสรุปจากการประชุมครั้งนี้ปรับแก้เป็นร่างแผนปฏิบัติงานฉบับที่ 4 เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาในเวทีการประชุมระดับภูมิภาคในวันที่ 31 ต.ค. นี้ ก่อนแก้ไขและส่งให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเห็นชอบในเดือนพ.ย. 2562 นำไปสู่การดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานโดยเร็ว ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนลุ่มน้ำโขงได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการประมงในลุ่มน้ำโขง มีการจัดการระบบนิเวศทางน้ำที่ดีมีการประมงที่ยั่งยืน มีชนิดปลาที่หลากหลาย
นอกจากนี้ ในที่ประชุมฝ่ายไทยได้นำเสนอและเน้นย้ำการดำเนินงานใน 5 ประเด็นหลัก คือ 1.กิจกรรมตรวจวัดผลกระทบด้านประมง ตามที่ฝ่ายไทยได้แจ้งว่าการตรวจวัดเพิ่ม ซึ่งไทยได้ดำเนินการเองใน 2 จุด คือ ที่จังหวัดบึงกาฬ และตอนบนของจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการต่อเนื่องด้านประมงข้ามพรมแดนเชียงราย-บ่อแก้ว ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก MRC
2. เสนอให้มีกระบวนการและวิธีการปฏิบัติติดตามตรวจสอบประมงและสัตว์น้ำข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น 3. ให้มีการใช้งบประมาณจาก MRC ในการสนับสนุนการสร้างบุคคลการ และในด้านจ้างผู้เชี่ยวชาญในประเทศตลอดจนเพื่อสร้างความรู้ถ่ายทอดความรู้ในการตรวจสอบประมงและสัตว์น้ำข้ามพรมแดน
4. กิจกรรมการติดตามตรวจวัดควรดำเนินการทั้งกิจกรรมตรวจวัดปกติ ที่ประเทศสมาชิกทำอยู่แล้ว โดยขณะนี้อยู่ในช่วงถ่ายโอนภารกิจดังกล่าวให้ประเทศสมาชิกดำเนินการเองด้วยงบประมาณประจำปีของแต่ละประเทศ รวมถึงกิจกรรมตรวจวัดผลกระทบด้านประมงในกรณีการพัฒนาสิ่งก่อสร้างในลำน้ำ เช่น เขื่อน ที่ควรให้ความสำคัญ ซึ่งยังดำเนินการโดย MRC จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของประเทศในลุ่มน้ำโขง และ 5. การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นพันธุ์ท้องถิ่นในน้ำโขงเพื่อการปล่อยสู่แหล่งที่อาศัยในธรรมชาติในน้ำโขงโดยการจำกัดขอบเขตของพื้นที่ที่จะดำเนินการในระยะแรก
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังได้ร่วมกันหารือเพื่อพิจารณาแนวทางด้านเทคนิคจากรายงานตัวชี้วัด MRC ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อแผนยุทธศาสตร์แม่น้ำโขงที่มีความครอบคลุมใน 5 มิติ คือ 1.ด้านสิ่งแวดล้อม 2.ด้านเศรษฐกิจ 3.ด้านสังคม 4. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 5.ความร่วมมือ ซึ่งข้อมูลการติดตามตรวจวัดจากตัวแปรที่กำหนดภายใต้กรอบตัวชี้วัด
ทั้งนี้ จะต้องมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบัน เนื่องจากในทุก 5 ปี ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ด้านงานจัดทำแผน ในรูปรายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำ การกำหนดแผนพัฒนาลุ่มน้ำ และการทำแผนปฏิบัติการในประเทศ ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้มีการพิจารณาในขบวนการให้ได้มาซึ่งข้อมูลและการทำแผนปฏิบัติการ (DAGAP) ตลอดจนข้อมูลปัจจุบันในส่วนที่ขาดของแต่ละมิติ เพื่อให้การทำงานของประเทศสมาชิกและ MRC มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
“การบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นลุ่มน้ำที่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในหลายประเทศ สำหรับลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อันมีประเทศสมาชิกประกอบด้วย ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนามนั้น ก็ได้มีการบูรณาการความร่วมมือในการบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดผลกระทบและเพื่อประโยชน์ของประชาชนในทุกมิติ โดยฝ่ายไทยจะนำข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นและข้อสรุปที่ได้รับจากการประชุมปรึกษาหารือทั้งสองประเด็น ไปเสนอเข้าสู่การพิจารณาในเวทีการประชุมระดับภูมิภาค ในวันที่ 31 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการเพื่อเห็นชอบในเดือน พ.ย. 62 ต่อไป”