เซียนใหญ่ 'ต้อย เมืองนนท์' ส่องกรุพระ 'มงคลกิตติ์' ตีราคา?
ยังอยู่ในข้อสงสัยของสังคม สำหรับมูลค่า "พระเครื่อง" 11 รายการ ในบัญชีทรัพย์สินที่ “มงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์” หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) โดยวันที่ 7 พ.ย.เจ้าตัวจะต้องเข้าชี้แจงต่อป.ป.ช.
ถึงแม้ก่อนหน้านี้ จะมีผู้เชี่ยวชาญพระเครื่องหลายคนออกมาวิเคราะห์ เปรียบเทียบกับมูลค่าในตลาดว่าเป็นอย่างไร แต่วันนี้เราได้คุยกับ “เซียนพระ” หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพระเครื่องพระบูชา มานานหลายสิบปี “พิศาล เตชะวิภาค” หรือ “ต้อย เมืองนนท์” รองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย คนที่ 1 ซึ่งจะช่วยสแกนกรุพระเครื่องของ “มงคลกิตติ์” ที่แจ้งมูลค่ารวมไว้กว่า 147 ล้านบาทว่าเป็นอย่างไร
เริ่มที่ 1. กริ่งปวเรศทองคำ หนัก 3 บาท ที่ได้มาปี 2552 แจ้งมูลค่า 50 ล้านบาท “ต้อย เมืองนนท์” บอกว่า ตามประวัติ "กริ่งปวเรศ” กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สร้างมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่เกิน 29-35 องค์ ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อ “โลหะผสม” หรือเรียกว่า “สำริด” แต่ส่วนผสมหลักสำคัญที่สุด คือฐานของพระพุทธชินสีห์ ที่อัญเชิญมาในสมัยก่อน แล้วฐานบิ่น ท่านได้นำเนื้อโลหะจากฐานที่บิ่นของพระพุทธชินสีห์มาผสม แล้วมีโลหะในยุคนั้นที่มีอนุภาพทางพุทธคุณ ที่คนโบราณถือว่าเป็นโลหะศักดิ์สิทธิ์ผสมเข้าไปด้วย
"ตามประวัติที่บันทึกไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระที่ท่านสร้างจะมีอยู่เนื้อเดียว คือเนื้อโลหะสำริด
ส่วนเนื้อทองคำ ถ้าผมเข้าใจอาจจะเป็นรุ่นหลังๆ อาจมีคนศรัทธาในกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เพราะถือว่าเป็นกริ่งที่สุดยอดของประเทศไทย ก็มีสิทธิทำได้ทั้งนั้น ไม่ว่าเป็นเกจิอาจารย์องค์ไหนก็ตามจะสร้างขึ้นมา แต่ความเข้าใจของผู้ที่ได้นึกว่า เป็นรุ่นที่ทำพร้อมความนิยมในรุ่นแรก อาจทึกทักไปว่าน่าจะเป็นรุ่นเดียวกัน”
เมื่อถามถึงมูลค่า 50 ล้านบาทของ “กริ่งปวเรศทองคำ” ตามที่มงคลกิตติ์แจ้งกับ ป.ป.ช.นั้น “ต้อย เมืองนนท์” บอกว่า ถ้าเป็นกริ่งปวเรศเนื้อสำริดที่สมบูรณ์แบบ ตามสากลนิยมของคนวงการกริ่งยอมรับ เท่าที่เคยเห็น ซื้อขายเต็มที่ก็มี 30 กว่าล้านบาท แต่กริ่งปวเรศทองคำตัดไปเลยว่า ไม่มีรุ่นแรกแน่นอน อาจเป็นพระกริ่งทองคำที่สร้างไม่กี่ปี หรืออาจเป็นการเคารพอาจารย์ที่สร้าง จะมีคุณค่าส่วนตัว
“แต่ถ้าหลักสากลแล้ว ถ้าเป็นกริ่งปวเรศทองคำ คนในวงการพระเครื่องเขาจะไม่ดูเลย ผ่านเลย เพราะถือว่าไม่มีบันทึกไว้ เฉพาะกริ่งปวเรศที่โชว์ที่วัดบวรฯ ถือว่าเป็นองค์ที่ดีที่สุด เป็นที่ยอมรับ ก็ยังเป็นเนื้อสำริด อย่าว่าแต่เนื้อทองคำเลย เนื้อสำริดหาแท้ ก็ว่ายากยิ่งแล้ว เนื้อทองคำเราไม่ต้องพูดถึง”
2.พระร่วงหลังรางปืน จ.สุโขทัย เลี่ยมทองคำ 2 บาท ปีที่ได้มา 2557 แจ้งมูลค่า 12 ล้านบาท เขาอธิบายว่า ถ้าพูดถึงในประเทศไทย คนที่ได้มามากที่สุด ไม่มีใครมีมากเท่าผม ตั้งแต่สะสมมาสมัยรุ่นๆ มาจนถึงทุกวันนี้ ที่เคยสัมผัสมาทั้งหมด ถ้าเป็นองค์ที่สวยที่สุด ไม่มีซ่อม และในวงการยอมรับ ยกย่องให้เป็นจักรพรรดินั้น ราคาซื้อขายล่าสุดประมาณ 4 ล้านกว่าบาท แต่ปกติจะมีตั้งแต่ 2 ล้านบาทลงมา ส่วนตัวเองมีอยู่ 2-3 องค์ หากได้ราคาแค่ครึ่งหนึ่งตามที่แจ้งไว้ก็คงดี" เขากล่าวกลั้วหัวเราะ
3.พระสมเด็จไกเซอร์ เลี่ยมทองคำ 2 บาท ปีที่ได้มา 2555 แจ้งมูลค่า 30 ล้านบาท เซียนพระผู้นี้ได้ย้อนประวัติศาสตร์ให้ฟัง โดยอธิบายก่อนว่า พิมพ์ไกเซอร์ คือ พิมพ์อกครุฑเหรียญบาตร แต่ที่เรียกพระสมเด็จไกเซอร์ เพราะสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 ท่านพกติดตัวไปพบกับพระเจ้าไกเซอร์ เยอรมัน ที่มีบุญญาธิการ เรียกว่าพิมพ์ไกเซอร์ เพราะว่าพระเจ้าไกเซอร์เห็น “แสงวาบ” ออกมาจากกระเป๋าเสื้อ คล้ายๆแสงปาฏิหาริย์ ทำให้พระเจ้าไกเซอร์ถามว่า นั่นคืออะไร รัชกาลที่ 5 ท่านก็หยิบออกมา บอกว่าเป็นพระสมเด็จ แล้วรัชกาลที่ 5 ท่านมาเล่าให้ข้าราชบริพาร หรือใครที่ติดตามไปก็เห็น จึงได้เรียกพิมพ์นี้ว่า “พิมพ์ไกเซอร์” ไม่ใช่ว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์โตท่านสร้าง แล้วระบุนี่คือว่า “พิมพ์ไกเซอร์” แต่จริงๆ พิมพ์ไกเซอร์คือ พิมพ์อกครุฑเหรียญบาตร
“ถ้าในวงการซื้อขายกันแบบสวยๆ เลย จะไม่เกิน 6-7 ล้านบาท ซึ่งมี 1-2 องค์ในวงการเท่านั้น แต่ถ้าทั่วไปสวยๆ ราคา 4 ล้านบาทลงมา”
4.พระพุทธชินราชใบเสมา เลี่ยมทองคำ 2 บาท ปีที่ได้มา 2557 แจ้งมูลค่า 2.54 ล้านบาท “ต้อย เมืองนนท์” ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเป็นพระของแท้สวย ราคาจะเป็นจริงที่ประมาณนี้ แต่ราคาที่ 2 ล้านกว่าบาทต้องเป็นพระที่อยู่ในขั้นดี เกรดเอ ซึ่งรุ่นนี้จะมีตั้งแต่ราคาหลักแสนบาทขึ้นไป 5.พระสมเด็จวัดระฆัง เลี่ยมทองคำ 1 บาท ปีที่ได้มา 2558 แจ้งมูลค่า 40.02 ล้านบาท เขาบอกเช่นกันว่า ถ้าเป็นของแท้สวยๆ เป็นองค์ที่ดังในวงการที่มีชื่อเสียง พอควักออกมาก็รู้ประวัติเป็นอย่างไร ราคา 40 ล้านบาทตามที่แจ้งไว้ถือว่าถึง
6.พระรอดลำพูน เลี่ยมทองคำ 1 บาท (ฐานปิ่น) ปีที่ได้มา 2556 แจ้งมูลค่า 10.02 ล้านบาท “ต้อย เมืองนนท์” บอกว่า ราคาประมาณ 10 ล้านบาท ถ้าเป็นพิมพ์ใหญ่ สวยๆ และถ้าเป็นของแท้ราคาก็ถึง 7.พระคงลำพูน เลี่ยมทองคำ 1 บาท ปีที่ได้มา 2556 แจ้งมูลค่า 3.2 แสนบาท เขาระบุว่า ถ้าสวยๆ และเป็นของแท้ราคาถึง
8.พระลือหน้ามงคล เลี่ยมทองคำ 1 บาท ปีที่ได้มา 2556 แจ้งมูลค่า 4.2 แสนบาท “ต้อย เมืองนนท์” บอกว่า ถ้าเป็นพระแท้ สวยๆ พระลือหน้ามงคลก็ราคาถึงเช่นกัน 9.พระยอดธง ปีที่ได้มา 2556 แจ้งมูลค่า 2 ล้านบาท ซึ่งในรายการแจ้งไม่ได้ระบุเนื้ออะไรไว้นั้น เขาบอกว่า ถ้าเป็นเนื้อทองคำสวยๆ เป็นวัดไก่เตี้ย สมัยอยุธยาที่นิยมกัน เต็มที่ราคาไม่น่าจะเกิน 1 ล้านบาท ซึ่งพระยอดธง แปลกตรงที่น่าจะมีราคาสูง แต่ไม่สูง
10.พระพิฆเนศโบราณ เลี่ยมทองคำ 1 บาท ปีที่ได้มา 2556 แจ้งมูลค่า 3.2 แสนบาท “ต้อย เมืองนนท์” บอกว่า ถ้าพระพิฆเนศโบราณที่ห้อยคอได้ เป็นยุคตั้งแต่บายนขึ้นไปถึงนครวัด ถ้าเป็นองค์แท้ก็ราคาถึงประมาณนี้ 11.ครุฑทองคำ 0.5 บาท ปีที่ได้มา 2556 แจ้งมูลค่า 10,000 บาท เขาเห็นว่า ครุฑทองคำ ราคาน่าจะเป็นไปตามที่แจ้ง
“ต้อย เมืองนนท์” อธิบายถึงมูลค่าของพระแต่ละองค์ หากพระที่เป็นองค์ท็อปๆ จะมีเพดานราคาไว้อยู่แล้ว ส่วนที่ราคาแตกต่างกัน ต้องมองว่า พระเครื่องก็เหมือนเพชร บางเม็ด เกรดเอ น้ำเยี่ยม กะรัตหนึ่งอาจจะซื้อถึง 3 แสน แต่บางเม็ดอาจจะแค่ 7 หมื่น เพราะต้องดูตำหนิ สี เหลี่ยม ทั้งที่ปริมาตรเท่ากัน แต่ราคาห่างกัน อย่างพระสมเด็จที่มีชื่อเสียงในวงการ อาทิ พระสมเด็จองค์ขุนศรี เช่าโดย เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา ถึง 100 ล้านบาท แต่บางองค์เช่ามาแค่ 3-4 ล้านบาท ทั้งที่เป็นพระแท้เหมือนกัน ทำคนเดียวกัน วัดเดียวกัน พิมพ์เดียวกัน แต่ต่างกันที่สภาพ
ส่วนการประเมินมูลค่าพระเครื่อง “ต้อย เมืองนนท์” ระบุว่า “ปัจจัยแรกต้องดูว่า พระแท้หรือเปล่า ถ้าปลอมจะไม่มีราคาอยู่แล้ว จะตีเท่าไหร่ก็ได้แต่ไม่มีคนซื้อ ราคาที่ตีกันสูงเหมาะสมก็ต้องเป็นพระแท้ และมีเพดานราคาที่รู้กัน ไม่อย่างนั้นวงการพระเครื่องจะไม่มีมาตรฐาน คงจะเลิกไปนานหลายสิบปี ทุกวันนี้มีแต่คนเล่นกันเพิ่มขึ้น เพราะเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ซื้อมาแล้วขายได้ และถ้าเป็นรุ่นดังๆในวงการ ก็จะรู้กันว่าองค์ไหนอยู่ที่ใคร ความเคลื่อนไหว รู้กันอยู่แล้ว”