‘ปธ.ฎีกา’ มองปมผู้ต้องขังหลบหนีศาล ประมาท-หย่อนกฎระเบียบ
“ปธ.ฎีกา” บอกต้องทบทวนวิธีควบคุม “ผู้ต้องขัง” ขณะที่เคสสอบข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาคณากร รอผลสรุป ส่วนปัญหาจับลิขสิทธิ์ยกฎีกาเคยยกฟ้องจำเลยขาดเจตนา เหตุผู้อ้างลิขสิทธิ์ยุยงให้ทำผิดเอง
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.62 ที่โรงแรมวอลดอร์ฟฯ ราชดำริ ภายหลังการแถลงนโยบายประธานศาลฎีกา นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อแนวคิดการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม หลังจากที่การแถลงนโยบายมีประเด็นศาลสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมว่า สถานการณ์ของโลกในปัจจุบันนั้นที่เราไม่ดูแลธรรมชาติ ถ้าเรามีศาลเฉพาะทางขึ้นมาที่มีความรู้ความเข้าใจ และให้อำนาจศาลในการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เอาคนไปจำคุกอย่างเดียว เช่น หากรับฟังได้ว่ามีการบุกรุกทำลายป่าคุณก็ต้องเสียเงินส่วนตัวมาปลูกป่า และต้องมีวิธีการที่จะบังคับคดีให้ได้จริง กรณีแบบนี้จะสามารถฟื้นฟูป่าได้ดีกว่าให้ศาลปกติทำ แต่การตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ก็ยังมีปัญหาอยู่ว่าจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม เรื่องนี้ยังคุยกันไม่ลงตัว อย่างไรก็ดีในส่วนของศาลยุติธรรมได้มีการยกร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมไว้แล้วส่วนหนึ่ง แต่เนื่องจากรัฐบาลเองก็ยังไม่มีข้อยุติในเชิงนโยบาย แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวของตนก็เห็นด้วยว่าศาลสิ่งแวดล้อมมีความจำเป็นกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยขณะนี้ส่วนของศาลยุติธรรมเราเองมีการตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมทั้งในศาลแพ่งและในศาลสูงมานานแล้ว แต่สิ่งที่ไม่ค่อยพัฒนาเพราะเราไม่มีงานทำที่เป็นกิจลักษณะ ถ้ามีการตั้งศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นมาและมีกฎหมายเป็นรูปธรรมขึ้นมามีการกำหนดวิธีพิจารณาสำหรับคดีสิ่งแวดล้อม คิดว่าบทบาทของศาลคดีสิ่งแวดล้อมน่าจะเยอะขึ้น
ขณะที่ เมื่อถามถึงมาตรการป้องกัน-รักษาความปลอดภัยบริเวณศาลจากกรณีมี 3 ผู้ต้องขังหลบหนีที่ศาลจังหวัดพัทยา โดยใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในศาลว่า เราต้องทบทวน โดยในส่วนของมาตรกาเราก็มีอยู่พอสมควร แต่อาจมีความหย่อนยานในเรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งเมื่อไม่เกิดเหตุเข้าก็อาจรู้สึกว่าไม่มีอะไร
อย่างไรก็ดี เราก็ต้องมาดูว่ากฎระเบียบในการควบคุมตัวผู้ต้องหา เข้ามายังห้องควบคุมนั้นดีพอหรือยัง เราต้องทบทวน และเหตุการณ์ครั้งนี้สิ่งที่สำคัญคือต้องดูว่าอาวุธเข้ามาได้อย่างไร ซึ่งอาจมีการส่งอาวุธเข้ามาก่อนเกิดเหตุหรืออย่างไร ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งถูกทำร้ายก็เป็นผู้เสียหายอยู่ในขณะนี้ไม่น่าจะมีส่วนอะไร แต่อาจจะเกิดเพราะความประมาท
เมื่อถามว่า พื้นที่ศาลต่างจังหวัดนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาควบคุมผู้ต้องขัง แต่ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจแทนนั้นเป็นอย่างไร นายไสลเกษ กล่าวว่า ทางราชทัณฑ์ ก็บอกอยู่ว่าเจ้าหน้าที่ไม่พอ เพราะปัจจุบันก็มีผู้ต้องขังล้นคุกเกิน 2-3 เท่า สัดส่วนของผู้คุมกับนักโทษเกินมาตรฐานหมดตรงนี้ก็น่าเห็นใจ หากศาลไปขอให้ใช้เจ้าหน้าที่จากราชทัณฑ์มาควบคุมด้วย ราชทัณฑ์ยิ่งขาดกำลัง ตนจึงคิดว่าควรจะเป็นการประสานงาน และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เราต้องดูว่าใครรับผิดชอบอะไร เข้มงวดตรงไหน อย่างไรก็ดีสำหรับกรณีของศาลจังหวัดพัทยา หัวหน้าศาลพัทยาได้รายงานตรงทางสำนักงานศาลยุติธรรมที่ดูแลเกี่ยวกับการบริหารการจัดการโดยตรง แล้วจึงจะรายงานตนอีกครั้งโดยในส่วนของตนยังไม่เห็นรายงาน
เมื่อถามว่าเรื่องนี้ ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) หรือไม่ นายไสลเกษ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการทำคดีความหรือวินัยผู้พิพากษา เป็นในส่วนการปฏิบัติงานของข้าราชการธุรการ ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในศาล จึงไม่น่าจะถึง ก.ต. เว้นแต่ ก.ต. สนใจอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วหยิบยกขึ้นมา
เมื่อถามถึงกรณีนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลาที่ยิงตัวเองในศาลบาดเจ็บว่ามีความหนักใจหรือไม่ และความคืบหน้าการสอบข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายไสลเกษ กล่าวว่า เรื่องนี้เรารับรู้ได้ว่าเป็นปัญหา เราควรหาสาเหตุว่าปัญหาเกิดจากอะไร ก็คิดว่าคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ทำถูกแล้วที่ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่าสาเหตุเกิดจากอะไร กรรมการชุดดังกล่าวก็จะประมวลสาเหตุและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา ตอนนี้ตนก็รอข้อสรุปจากคณะกรรมการฯจะออกมาเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นที่ว่ากันว่ามีการแทรกแซงคำพิพากษานั้น ต้องตั้งคำถามว่ามีจริงหรือไม่ ตอนนี้ตนยังตอบไม่ได้
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องทำให้สังคมเข้าใจด้วยคือว่า การตรวจสอบคำพิพากษาให้ถูกต้อง กับการแทรกแซงเป็นคนละเรื่อง ถามท่านว่าคำพิพากษาก่อนจะออกมาอ่านได้นั้นสมควรหรือไม่ที่จะถูกตรวจสอบข้อกฎหมายทุกข้อ สมควรหรือไม่ที่จะต้องตรวจสอบว่าเขียนบนพื้นฐานของพยานหลักฐานในสำนวนที่ครบถ้วน สมควรอย่างยิ่ง ถ้ากระบวนการในการทำคำพิพากษาของศาลมีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง ถามว่าชาวบ้านได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ผมยืนยันว่าชาวบ้านได้ประโยชน์แน่นอนที่สุด คำพิพากษาจะผิดพลาดน้อย แต่ขณะเดียวกันหลักการเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาก็ต้องรักษาเอาไว้ และขั้นตอนในการทำคำพิพากษามีความชัดเจนในตัวของมันอยู่ แต่ตรงนี้เราไม่รู้ว่ากรณีนี้เบี่ยงเบนตรงไหน แต่กระบวนการในการตรวจสอบคำพิพากษาและความเป็นอิสระชัดเจนทั้งข้อกฎหมายและระเบียบ
เมื่อถามถึงกรณีที่สังคมสนใจอยู่ขณะนี้ ที่มีบุคคลใช้กฎหมายโดยบิดเบือนหรือไม่ ตัวอย่างกรณีกฎหมายลิขสิทธิ์ ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะกลั่นแกล้งจับกุมเพื่อหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้หรือไม่ นายไสลเกษ กล่าวว่า ในเรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยไว้หลายคดี เช่นการจับกุมแล้วกล่าวหาละเมิดลิขสิทธิ์โดยการได้มาซึ่งตัวจำเลยนั้นมีการล่อซื้อ มีการวางแผนจับกุม โดยบางครั้งเหมือนกับว่าไปยุยงส่งเสริมให้มีการกระทำความผิดโดยที่จำเลยไม่ได้เป็นคนริเริ่มเอง ซึ่งมีคดีหนึ่งที่บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ไปว่าจ้างจำเลยให้ทำคอมพิวเตอร์แล้วบอกให้บรรจุโปรแกรมด้วย กระทั่งมีการไปเอาซอฟท์แวร์ที่ติดลิขสิทธิ์มาใส่ให้ในคอมพิวเตอร์ กรณีอย่างนี้เห็นว่าเมื่อเริ่มต้นจำเลยผลิตแต่ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ได้ผลิตโปรแกรม แต่พอมีคำสั่งซื้อเข้ามาก็ไปเอาโปรแกรมมาใส่ให้ ศาลก็เห็นว่าขาดเจตนาจะละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตนไม่ทราบข้อเท็จจริงในคดีเป็นอย่างไร เท่าที่ทราบจากข่าวเพียงว่ามีคนมาว่าจ้างเด็กให้ใช้รูปแบบลายการ์ตูนทำกระทง ก็ลักษณะเหมือนรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ แล้วมีการเข้าไปจับกุม ซึ่งตนไม่อยากให้ความเห็นอะไรที่ลงลึกไปเพราะอาจจะเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมกับอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะเรายังไม่รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หลักกฎหมายที่เราพอจะสรุปได้ คือ ถ้าเขาไม่มีความตั้งใจละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าไปยุยงส่งเสริมล่อให้ทำขึ้น กรณีแบบนี้ก็เกิดจากบุคคลที่อ้างเป็นผู้เสียหาย มีส่วนที่ก่อให้เกิดการกระทำความผิด ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาเคยมีแนววินิจฉัยว่าผู้เสียหายมีส่วนในการยุยงให้เกิดการกระทำความผิด จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่จะมีอำนาจเอาคดีมาฟ้องได้