รัฐบาลอนุมัติงบ 3.4 พันล้าน สานต่อ 64 รร.ชายแดนใต้

รัฐบาลอนุมัติงบ 3.4 พันล้าน สานต่อ 64 รร.ชายแดนใต้

ครม.อนุมัติ 3,416.54 ล้านบาท สานต่อ 64 รร.ประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด พร้อมทั้งผ่านร่างกฎกระทรวงฯ จัดสวัสดิการแม่วัยรุ่น

วานนี้(26 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบหลักการดำเนินโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2560 ให้มีการปรับระดับโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในพื้นที่อำเภอละ 1 แห่ง ให้เป็นโรงเรียนประจำ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนที่ยากจน หรือนักเรียนที่ถูกทอดทิ้งไม่มีผู้อุปการะ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม และทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพชีวิตในคนในพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน และมีโรงเรียนในโครงการ 64 โรงเรียน มีนักเรียน 5,049 คน คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ของบประมาณจาก ครม.วงเงิน 3,416.54 ล้านบาท แบ่งเป็นจ้างครูรายเดือน ซื้อสื่อการเรียนการสอน 132.81 ล้านบาท งบลงทุนในการก่อสร้างหอนอนและครุภัณฑ์ 1,031.37 ล้านบาท งบอุดหนุนเพื่อเป็นค่าอาหาร 3 มื้อ และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากงบฯ อุดหนุนรายหัว 2,252.36 ล้านบาท

ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. .... เพื่อให้ไปเป็นตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงการจัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. .... ได้กำหนดให้รัฐต้องจัดสวัสดิการสังคมและให้บริการด้านต่างๆ แก่แม่วัยรุ่น ดังนี้

1.กำหนดให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวมีการฝึกอาชีพหรือจัดหาที่ฝึกอาชีพให้แก่แม่วัยรุ่นที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอาชีพตามความสนใจและความถนัด

2.กำหนดให้กรมกิจการเด็กและเยาวชนจัดหาผู้ประสงค์ที่จะรับเลี้ยงดูบุตรของแม่วัยรุ่นเป็นการชั่วคราวเพื่อทำหน้าที่ครอบครัวทดแทนในกรณีที่แม่วัยรุ่นไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ 3.กำหนดให้มีการบริการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำแก่วัยรุ่นและครอบครัว จัดหาที่พักที่เหมาะสมและปลอดภัย รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แม่วัยรุ่นได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม

รวมทั้งร่างกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดการทำงานเชิงรุก โดยส่งเสริมสนับสนุนให้สภาเด็กและเยาวชนทุกระดับสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่เพื่อเป็นแกนนำป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ รวมถึงบริการและสวัสดิการทางสังคมต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่และเฝ้าระวัง

ทั้งนี้ กำหนดให้ร่างกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ไม่น้อยกว่า 60 วัน หลังมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

อ่านข่าว-สพฐ.สั่งการผอ.เขตพื้นที่ทั่วประเทศควบรวมโรงเรียน