กรมอนามัย เผย 'อ้วน-ภาวะเตี้ย' ปัญหาเด็กวัยเรียนวัยรุ่น
กรมอนามัย เผย "อ้วน-ภาวะเตี้ย" ปัญหาเด็กวัยเรียนวัยรุ่น ภาคกลาง จับมือเครือข่ายพัฒนาความรอบรู้สุขภาพ
วันนี้ (23 ธันวาคม 2562) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาการสร้างมูลค่าสื่อสารความรอบรู้ สู่นวัตกรรมสุขภาพ ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี ว่า สถานการณ์สุขภาพเด็กวัยเรียนมีแนวโน้มการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียนคงที่ในพื้นที่ภาคกลาง เขตสุขภาพที่ 6 เด็กสูงดีสมส่วนมากที่สุดคือร้อยละ 62.6 รองลงมาเป็นเขตสุขภาพที่ 4 ร้อยละ 61.2 และเขตสุขภาพที่ 5 ร้อยละ 59.7 ตามลำดับ ส่วนปัญหาภาวะโภชนาการเกิน พบเด็กอ้วนในเขตสุขภาพที่ 5 มากที่สุดคือ ร้อยละ 16.3 รองลงมาเขตสุขภาพที่ 4 ร้อยละ 15.9 และเขตสุขภาพที่ 6 ร้อยละ 14.5 สำหรับปัญหาภาวะขาดสารอาหารเรื้อรังส่งผลให้เกิดภาวะเตี้ยนั้น พบมากที่สุดในเขตสุขภาพที่ 4 ร้อยละ 8 รองลงมาเป็นเขตสุขภาพที่ 6 ร้อยละ 7.6 และเขตสุขภาพที่ 5 ร้อยละ 7.5 นอกจากนี้ยังพบปัญหาเด็กวัยเรียนได้รับบริการ ตามชุดสิทธิประโยชน์ ไม่ครอบคลุมโดยเฉพาะการได้รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กสัปดาห์ละ 1 ครั้ง การตรวจคอพอกโดยการคลำคอ และการตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น การตรวจสายตาและการได้ยิน ตลอดจนขาดระบบเชื่อมโยงส่งต่อระหว่างโรงเรียนกับหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ไม่มีการคืนข้อมูลปัญหาสุขภาพไปยังพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตทั้งระยะสั้นและระยะยาว
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยโดยศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรีและเครือข่าย ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมคิดค้นกระบวนการนวัตกรรม และขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพเด็กวัยเรียนวัยรุ่น โดยส่งเสริมความรอบรู้ทางด้านสุขภาพให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นแข็งแรง และฉลาด สามารถจัดการปัญหาด้านสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม สามารถได้รับข้อมูลข่าวสารที่ดีและเข้าถึงข้อมูลจากแหล่งที่มาที่หลากหลาย เพื่อประกอบการตัดสินใจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยสามารถบอกต่อการจัดการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพแก่บุคคลอื่นได้
“ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่นในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องตามกลยุทธ์โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โดยมีกิจกรรมโครงงานสุขภาพนักเรียนเพื่อสร้างความ ท้าทาย รวมทั้งกระตุ้นให้โรงเรียนต่างๆ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์โครงงานสุขภาพที่มีความหลากหลาย แปลกใหม่และยั่งยืน อันจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของนักเรียน และยังมีการพัฒนาสู่โรงเรียนรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate School) เครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี โรงเรียนต้นแบบโภชนาการ และส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการดำเนินการในรูปแบบของเครือข่ายในโรงเรียน เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคนในโรงเรียน ชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด