มอง 'ลอดช่อง' หรือ 'ยึดบรรทัดฐาน' ?
ถึงนาทีนี้ หลายฝ่ายยังจับจ้องไปที่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อประเด็น "เสียบบัตรแทนกัน" ของ ส.ส. ระหว่างพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ในวาระ 2 และ3 อันอาจส่งผลให้การบังคับใช้มีปัญหาไปด้วย
ในวันนี้ (29 ม.ค.) ศาลจะพิจารณาว่าจะ “รับ-ไม่รับคำร้อง” ตามที่ประธานสภาเสนอ หากรับคำร้องขั้นตอนต่อไปก็จะต้องเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงก่อนมีคำวินิจฉัยว่า กระบวนการพิจารณากฎหมายเป็นไปโดยชอบหรือไม่?
มีการประเมินว่า แนวทางที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมาเป็นไปได้หลายทางๆไม่ว่าจะเป็น กระบวนการตราร่างกฎหมายขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่?
หากศาลวินิจฉัยว่ากระบวนการมีปัญหาจะ “มีปัญหาทั้งฉบับ” หรือ “เฉพาะมาตรา” ที่มีการกดบัตรแทนกัน หากเป็นอย่างหลังคือมี “ปัญหาเฉพาะมาตรา” ก็อาจจะง่ายตรงที่สามารถนำร่างกลับมา “โหวตใหม่” หรือ “ตัด4เสียงที่มีปัญหาออก”
แต่หาก“มีปัญหาทั้งฉบับ”หรือ ให้กฎหมาย “เป็นอันต้องตกไป” นั่นหมายความว่า กระบวนการทั้งหมดถือเป็น“โมฆะ” และต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการพิจารณาเรียงตามวาระ1-2-3 หรือ การตั้งกมธ.เต็มสภาฯเพื่อพิจารณา3วาระรวด
เรื่องนี้มีความเห็นจากทาง “ศรีธนญชัยลอดช่อง” อย่าง “วิษณุ เครืองาม” ที่พยายาม “มองลอดช่อง” โดยหยิบยกมาตรา143แห่งรัฐธรรมนูญมากล่าวอ้างว่า พ.ร.บ.งบฯถือเป็น “กฎหมายพิเศษ” ไม่สามารถนำไปเทียบเคียงกับกรณีการเสียบบัตรแทนกันของ “นริศร ทองธิราช” อดีตส.ส.เพื่อไทย ซึ่งศาลเคยวินิจฉัยให้พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเป็นโมฆะได้
หากร่างพ.ร.บ.งบฯตกไป จะเข้าข่ายว่า สภาฯพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 105วันตามมาตรา143 และให้ถือว่าสภาเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.หรือไม่?
ทว่าอีกมุมหนึ่งกลับไม่เห็นเป็นเช่นนั้น เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่การพิจารณาว่า “เสร็จ” หรือ “ไม่เสร็จ” แต่เป็นเรื่องของความ “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” ด้วยกฎหมายจึงไม่สามารถยกมาตราดังกล่าวมากล่าวอ้างได้ และการกดบัตรแทนกันในอดีตจนส่งผลให้ร่างกฎหมายเป็นโมฆะ ย่อมถือเป็น “บรรทัดฐาน” ซึ่งต้องนำมาใช้กับกรณีล่าสุดด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การยื่นตีความดังกล่าวย่อมส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลต้องสะดุดลงท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้นายกฯ แสดงความรับผิดชอบด้วยการ “ลาออก” หรือ “ยุบสภาฯ”
ขณะที่ฟากฝั่งรัฐบาลยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาของสภาฯนายกฯไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น!!