กรมปศุสัตว์ ชี้ไทยไม่เคยพบโรคติดต่อที่มีค้างคาวเป็นพาหะในปศุสัตว์ ยันเฝ้าระวัง
อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุ ไทยไม่เคยพบโรคติดต่อที่มีค้างคาวเป็นพาหะในปศุสัตว์ ยันเฝ้าระวัง ป้องกันโรคบริเวณที่เป็นแหล่งอาศัยของค้างคาวตลอดเวลา ย้ำเกษตรกรไม่ต้องเป็นกังวล เตรียมห้องปฏิบัติไว้พร้อมกรณีพบสัตว์มีอาการต้องสงสัย ตรวจเชื้อได้อย่างแม่นยำ
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 63 นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้จัดทำแผนการรับสถานการณ์โรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะในปศุสัตว์ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 23/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ลงวันที่ 28 ม.ค. 2563 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ รวมทั้งจัดทำแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ บูรณาการระหว่างหน่วยงาน จัดระบบการประสานงาน สนับสนุนการเตรียมความพร้อม รวมทั้งกำกับติดตามผลการดำเนินงาน
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้เฝ้าระวังโรคที่เกิดจากค้างคาวซึ่งเริ่มตั้งแต่มีการระบาดของโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ในประเทศมาเลเซียในปี 2541 โดยทำการเก็บตัวอย่างสุกรอย่างต่อเนื่องทุกปี เน้นบริเวณที่เป็นแหล่งอาศัยของค้างคาว ไม่พบผลบวกนิปาห์ไวรัสและไม่พบเชื้อไวรัส MERS นอกจากนี้ยังร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก USAID/FAO โครงการวิจัยในค้างคาว คน และปศุสัตว์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดยดำเนินการตั้งแต่ปี 2558-2562 สำรวจหาหลักฐานการติดเชื้อไวรัสที่มีค้างคาวเป็นพาหะในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และราชบุรี โดยเก็บตัวอย่างซีรัมและสารคัดหลั่งในสุกร 2,067 ตัว โค 200 ตัว และสัตว์เลี้ยง (สุนัขและแมว) 238 ตัว ส่งตรวจหาดีเอ็นเอที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ผลการตรวจวิเคราะห์พบว มีไวรัสเดิมที่อยู่ในสัตว์นั้นอยู่แล้ว ยังไม่พบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ แต่อย่างใด
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า มีแนวทางศึกษาทางระบาดวิทยาและพัฒนานวัตกรรมในการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงโรค โดยในการออกหากินของค้างคาวนั้นจะบินเป็นรัศมี 23 กิโลเมตร แต่กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังให้ครอบคลุมถึง 30 กิโลเมตร ล่าสุดพัฒนาระบบสารสนเทศแอปพลิเคชันบนมือถือ อี สมาร์ทพลัส (E-SmartPlus) เพื่อเฝ้าระวังโรคและสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงของฟาร์มต่อโรคที่มีค้างคาวเป็นแหล่งพาหะ ยืนยันว่า การเฝ้าระวังโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะในปศุสัตว์ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ให้ความรู้และคำแนะนำแก่เกษตรกรในการปรับปรุงฟาร์มเพื่อให้มีระบบป้องกันทางชีวภาพที่เหมาะสม รวมถึงพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างซึ่งหากพบกรณีเกิดสัตว์ป่วยและมีอาการน่าสงสัยนั้น สามารถตรวจวิเคราะห์โรคได้อย่างรวดเร็ว
จากที่พบโรคจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งคาดว่า มีค้างคาวมีเป็นพาหะ กรมปศุสัตว์จัดทำแผนการเตรียมความพร้อมรับมือโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะในปศุสัตว์เพิ่มเข้าไปกับแผนรับมือ ควบคู่กับโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ที่มีอยู่เดิมเพื่อเตรียมความพร้อมและสามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ยืนยันว่า ไทยยังไม่พบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในปศุสัตว์ แต่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทั่วประเทศจะเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เป็นแหล่งอาศัยของค้างคาว หากพบสัตว์ป่วยโดยมีอาการน่าสงสัยสามารถตรวจวิเคราะห์โรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำซึ่งจะสามารถควบคุมโรคได้ทันที