อ่านเอกสาร ทำไม? พ.ร.บ.งบฯ 63 ไม่โมฆะทั้งฉบับ
อ่านเอกสาร ทำไม? พ.ร.บ.งบฯ 63 ไม่โมฆะทั้งฉบับ
วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็น ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวม 2 คําร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้อง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ซึ่งผลการลงมติ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อความหรือเนื้อหาสาระของ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่อย่างใด ทั้งไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความผิดทางอาญา หรือทางจริยธรรมของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใด คงมีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะเรื่องกระบวนการตรา ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลใดจะต้องรับผิดรับโทษอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปดําเนินการ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า การกระทําโดยไม่สุจริตใช้สิทธิออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่ได้ อยู่ร่วมประชุมด้วยนั้นเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของ ประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ทั้งสมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรคสาม และการออกเสียงลงคะแนนจะกระทําแทนกันมิได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 80 วรรคสาม ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี งบประมาณ พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลาประมาณ 19.30 นาฬิกา ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระที่สอง และวาระที่สาม ปรากฏการแสดงตนและลงมติของนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ รับเองว่าตนไม่อยู่ในที่ประชุมตามวันและ เวลาดังกล่าว การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้อยู่ในห้องประชุม แต่ปรากฏว่ามีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตน และลงมติแทน ย่อมมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ทําให้ผลการลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในวันและเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วย (รัฐธรรมนูญ)
ปัญหาว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตกไปทั้งฉบับ ตามคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18 /2556 และคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2557หรือไม่ เห็นว่า ประเด็นข้อวินิจฉัย พฤติการณ์แห่งคดีและบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังกล่าวแตกต่างจากประเด็นข้อวินิจฉัย พฤติการณ์แห่งคดี และบทกฎหมายในคดีนี้อย่างมีนัยสําคัญ กล่าวคือ คดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อความอันเป็นสาระสําคัญของร่างพระราชบัญญัติขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่มีปัญหาที่กระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เท่านั้น ทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ปรากฏชัดว่าการพิจารณา ออกเสียงลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ และการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรียงตามลําดับมาตราในวาระที่สองได้ดําเนินการไปโดยชอบด้วย รัฐธรรมนูญ ทุกประการ ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นไปโดยสมบูรณ์ก่อนแล้ว นอกจากนี้ ยังมีเหตุจําเป็น เร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่าย งบประมาณแผ่นดินอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561มาตรา 74 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอํานาจกําหนดคําบังคับไว้ในคําวินิจฉัยได้ด้วย ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวนี้มิได้มีอยู่ในอดีต
อาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 ให้สภาผู้แทนราษฎรดําเนินการให้ถูกต้องเฉพาะในวาระที่สองและวาระที่สาม และ ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ แต่การพิจารณาลงมติในวาระที่หนึ่ง และในขั้นตอนการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการก่อนนําเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาออกเสียงลงมติเรียงตามลําดับมาตราในวาระที่สอง ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปก่อนที่จะมีการกระทําอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเป็นขั้นตอนที่ชอบและมีผลสมบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญแล้ว จากนั้นให้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขให้ถูกต้องดังกล่าวให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ เพื่อดําเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป พร้อมทั้งให้สภาผู้แทนราษฎรรายงานผลการปฏิบัติตามคําบังคับ ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคําวินิจฉัย
ส่วนคําร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จํานวน 78 คน ขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 นั้น เห็นว่า เหตุแห่งคําร้องดังกล่าวเป็นเหตุเดียวกันกับที่ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคําวินิจฉัยไปในคดีนี้แล้ว กรณีไม่มีเหตุจําเป็นต้องรับไว้พิจารณาวินิจฉัยให้อีก จึงมีคําสั่ง ไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย