“พล.อ.ประยุทธ์” ย้ำ ห้าม “เรือสำราญ” เทียบท่าในไทย แต่พร้อมดูแลเรื่อง “มนุษยธรรม” วอนอย่าตระหนก “ไวรัสโคโรนา” ชี้ ถ้าเราทำได้ดีครบถ้วน ทุกอย่างไม่มีปัญหา แนะ ใช้หน้ากากอนามัยทำจากผ้า ซักได้
เมื่อวันที่ 11 ก.พ.63 เวลา 13.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวหลังการประชุมครม. ถึงการแก้ไขปัองกันไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ 2019 ว่า เรื่องของเรือสำราญที่จะขอจอดเทียบท่าเรือของไทยนั้น เราไม่อนุญาตให้จอดแต่เราจะดูแลในเรื่องของมนุษยธรรม อย่างการเติมน้ำมัน หรือต้องการน้ำ อาหาร เราจะส่งไปให้ ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเหมือนต่างประเทศ ที่ดำเนินการเช่นเดียวกัน ก็ขอให้เข้าใจด้วย เพราะมีคนจำนวนมาก 2 พันกว่าคนบนเรือ เราต้องระมัดระวังการแพร่กระจายไประยะที่ 3 วันนี้เราอยู่ในระยะที่ 2 ยังควบคุมได้ หรือดูแลผู้ที่มาจากต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ จะประชุมและให้ทางกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงมาตรการเตรียมการขั้นต้น ไม่ให้นำไปสู่การแพร่ระบาดก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ถ้าเราทำได้ดีครบถ้วนทุกอย่าง ก็ไม่มีปัญหา
นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังให้รมว.พาณิชย์ ไปประชุมหารือกับผู้ประกอบการผลิตหน้ากากอนามัยให้ผลิตเพิ่มมากขึ้น ทราบว่าหลายโรงงานมีการเพิ่มวงรอบการผลิตเพื่อให้ประชาชนใช้ได้อย่างทั่วถึง และต้องมีมาตรการสำรองด้วย เพราะหลายประเทศขอมาเหมือนกัน ขณะนี้หน้ากากอนามัยขาดแคลนหลายประเทศ เราจึงต้องเตรียมการให้พร้อม และอยากเรียนว่า วันนี้เราให้ความรู้ทั้งการสาธารณสุข ทางการแพทย์ อาจจะใช้วิธีการทำหน้ากากอนามัยด้วยผ้า สามารถซักใช้ได้หลายครั้ง จะทนทานมากกว่าใช้หน้ากากชั่วคราวแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องมีให้เพียงพอ ทั้งในส่วนที่จำหน่ายตามร้านค้า ต้องไปหาตั้งแต่ต้นทางมา ผลิตได้เท่าไหร่ จะเพิ่มจำนวนเท่าไหร่ อย่าลืมว่าที่ผ่านมาโรงงานทำด้วยกลไกทางการตลาดของเขาเอง ราคาก็เป็นจำนวนหนึ่ง เราจะดูว่าทำอย่างไรให้กระจายไปทุกพื้นที่
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้หน้ากากอนามัยไปร้านค้าประชารัฐส่วนหนึ่ง และร้านค้าต่างๆอีกส่วนหนึ่ง แต่ปริมาณผลิตไม่พอ จึงขาดแคลนต้องเร่งรัดตรงนี้ รัฐบาลยินดีพร้อมสนับสนุน ส่วนหนึ่งที่ได้รับมาก็นำไปแจกก็มี ทุกคนต้องเข้าใจว่า การผลิตภาคเอกชนและองค์การเภสัชกรรม คนละแบบกัน อันนั้นเป็นเรื่องการตลาดการค้าของเขาที่มีค่าการตลาดอยู่พอสมควร ในส่วนขององค์การเภสัชฯ ก็มีจำกัด ราคาจึงอาจแตกต่างกันก็ต้องดูในส่วนไหนจะทำประโยชน์อย่างไร อย่างน้อยเราก็ได้กำชับไปในทางปฏิบัติให้ได้มากที่สุด วันนี้ได้พูดคุยครม.หลายประเด็นด้วยกัน ทั้งมาตราการระยะสั้น มาตรการระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องการขาดแคลน และในส่วนที่ต้องร่วมมือกับต่างประเทศด้วย
นายกฯกล่าวว่า หลายๆอย่างเราต้องวิเคราะห์สถานการณ์ให้ดี ถูกต้อง บนพื้นฐานกฎหมายของเรา ความปลอดภัยประชาชนของเรา เป็นส่ิงที่รัฐบาลให้ความสำคัญที่สุด