เปิด 15 ธุรกิจ 'เสนาพาณิชย์' ในรั้วกองทัพ
เปิด “15 ธุรกิจ" ในข่าย "เสนาพาณิชย์" ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบก โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ทหารไปแสวงประโยชน์
นโยบายทิ้งทวนของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ที่ประกาศรื้อธุรกิจในค่ายทหาร เพื่อให้ยึดโยงกับการนำเงิน หรือผลกำไรที่ได้ไปดูแลสวัสดิการกำลังพล จากการตรวจสอบสิ่งที่ ผบ.ทบ.เรียกว่า “สวัสดิการเชิงพาณิชย์” หรือบางฝ่ายเรียกในเชิงตรวจสอบว่า “เสนาพาณิชย์” หรือ “ธุรกิจในค่ายทหาร” ซึ่งสังคมต้องการความชัดเจนว่า มีการจัดสรรผลประโยชน์อย่างไร และดอกผลที่ได้ มีระบบคืนกลับไปเป็นสวัสดิการกำลังพลอย่างไรบ้าง
อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง เก็บข้อมูลร่วมกับ “เนชั่นทีวี” พบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบก โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ทหารไปแสวงประโยชน์ มีอยู่ด้วยกัน 15 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่
1.กองการออมทรัพย์ กรมสวัสดิการทหารบก เป็นการบังคับออมเงินเดือนกำลังพลทุกชั้นยศให้เข้าร่วมในโครงการออมทรัพย์ของกองทัพบก หรือ อ.ทบ. เป้าหมายคือใช้เป็นสวัสดิการ ให้กำลังพลกู้ยืมฉุกเฉิน หรือกู้ซื้อบ้าน แต่เงินนี้ฝากไว้ที่ธนาคารทหารไทย คำถามคือ ดอกผลที่ได้มีการจัดสรรผลประโยชน์กันอย่างไร
2. สถานีโทรทัศน์ของกองทัพบก ปัจจุบันมี 2 ช่อง คือ ช่อง 5 กองทัพดำเนินการเอง และช่อง 7 ให้สัมปทานเอกชนดำเนินการ เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ทั้งค่าสัมปทาน และค่าโฆษณา มีการจัดสรรอย่างไร ทหารประจำการที่ไปทำงานที่ช่อง 5 รับเงินเดือน 2 ทางหรือไม่
3. สถานีวิทยุของกองทัพบก มีอยู่ในทุกกองทัพภาค ทั้ง 4 กองทัพภาค พูดง่ายๆ คือมีทั่วประเทศ คำถามที่ต้องชี้แจงให้โปร่งใสก็เหมือนกับเรื่องสถานีโทรทัศน์
4. สนามม้าของกองทัพบก ปัจจุบันมีอยู่ใน 2 กองทัพภาค คือ สนามม้าโคราช (กองทัพภาคที่ 2) และสนามม้าเชียงใหม่ (กองทัพภาคที่ 3)
5. สนามกอล์ฟของกองทัพบก มีอยู่ในค่ายหลักของกองทัพบกแทบทุกค่าย แม้ด้านหนึ่งจะใช้เป็นประโยชน์สำหรับการออกกำลังกายและสันทนาการของนายทหาร แต่ในอีกด้านหนึ่งเป็นการหารายได้ด้วยการเปิดรับสมาชิกจากพลเรือน ทั้งยังมีการใช้บุคลากรของกองทัพมาทำหน้าที่บริหารจัดการและให้บริการด้วย เพราะบางสนามมีร้านอาหาร ที่พักคล้ายรีสอร์ท เช่น สวนสนประดิพัทธ์ หรือ สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สนามกอล์ฟ ทบ. ริมถนนรามอินทรา สถานตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการ
6. สนามมวยของกองทัพบก มีอยู่ 2 แห่งคือ สนามมวยลุมพินีที่กรุงเทพ (ปัจจุบันย้ายจากย่านสวนลุมพินี ติดกับโรงเรียนเตรียมทหารเดิม ไปอยู่ที่ถนนรามอินทรา ใกล้กับสนามกอล์ฟ ทบ. และอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสวัสดิการทหารบก) กับสนามมวยเชียงใหม่ (อยู่ในค่ายกาวิละ อยู่ในความรับผิดชอบของ มณฑลทหารบกที่ 33)
7. ที่ราชพัสดุในความดูแลของกองทัพบก มีโครงการบ้านธนารักษ์ จัดสร้างบ้านพักราคาถูกให้แก่กำลังพล บางส่วนกลายเป็นช่องทางเรียกเงินทอนหรือไม่
8. สวัสดิการจัดหาอาวุธปืนของกองทัพบก เรียกว่า “ปืนสวัสดิการ”
9. สโมสรฟุตบอลของกองทัพบก
10. ธุรกิจอาหารในค่ายทหาร
11. กองการฌาปนกิจ กรมสวัสดิการ ทหารบก ส่วนนี้จะคล้ายกับหักออมทรัพย์ ทำกันในส่วนราชการแทบทุกหน่วย และพบปัญหาในหลายหน่วยเช่นกัน
12. สโมสรกองทัพบก หรือ สโมสรทหารบก มีการเก็บค่าบำรุง และให้สัมปทานเอกชนดำเนินการ
13. การดำเนินการสร้างถนนของทหาร เป็นการรับงานจากรัฐบาลหรือแม้แต่องค์กรปกครองท้องถิ่นในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมถนน เพราะหน่วยทหารช่าง และกองบัญชาการทหารพัฒนา มีเครื่องมือหนักอย่างพรักพร้อม แต่คำถามคือ เงินที่ได้ นำไปใช้ทำอะไร และใครมีอำนาจบริหารจัดการเงินนั้น
14. ธุรกิจอื่นๆ เช่น การนำดินที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารสถานที่ของหน่วยทหารไปขายเป็นรายได้ การใช้ที่ดินของกองทัพเปิดปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
15. ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ในหน่วยทหาร เช่น กองบัญชาการกองทัพบก กองทัพภาคที่ 1 ล่าสุดมีรายงานว่าใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่ปัตตานี ก็มีร้านสะดวกซื้อด้วยเช่นกัน แต่ไม่ชัดเจนว่าจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการหรือไม่
นี่คือธุรกิจ หรือกิจการในเชิงพาณิชย์ที่กองทัพต้องเคลียร์ให้โปร่งใส ทั้งกระบวนการการดำเนินกิจการ รายรับ รายจ่าย บุคลากรที่ใช้ และเงินหรือดอกผลที่ได้ ว่าคืนกลับมาเป็นสวัสดิการอย่างไร