ย้อนรอย ‘พรรคภราดรภาพ’ อยู่จุดไหนในการเมืองไทย?
ย้อนรอยประวัติ “พรรคภราดรภาพ” ที่ตกเป็นข่าวพัวพันกับกรณีอื้อฉาวขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย ซึ่งล่าสุดประธานยุทธศาสตร์พรรคออกมาปฏิเสธแล้ว แต่ที่น่าสนในคือบทบาทที่ผ่านมาของพรรคนี้อยู่ตรงจุดไหนในการเมืองไทย และมาจากนักการเมืองกลุ่มก๊วนใดบ้าง
จุดเริ่มต้นของ พรรคภราดรภาพ เกิดขึ้นในปี 2556 เมื่อก่อตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 เป็นลำดับที่ 22/2556 เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2556 โดยมีนายทวี ซันเฮม และ นายสมศักดิ์ มีชัย เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนแรก
ต่อมาในวันที่ 18 พ.ย. 2557 นายทวีได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคมีอันต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง
วันที่ 23 ต.ค. 2561 พรรคได้จัดการประชุมใหญ่ขึ้นที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกหม่อมราชวงศ์ดำรงดิศ ดิศกุล อดีต ส.ส. กทม.และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 2 และนายพันธ์ยศ อัครอมรพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค โดยมี ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร อดีต ส.ส. กทม. พรรคไทยรักไทยและอดีตนายทหารสัญญาบัตรกองทัพบก เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคและส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 สำหรับการเลือกตั้งปี 2562
ก่อนหน้าการประชุมใหญ่ครั้งนั้นของพรรคภราดรภาพประมาณ 1 สัปดาห์ มีกลุ่มอดีตคณะกรรมการบริหารและสมาชิกพรรคบางส่วนแยกออกไปร่วมงานการเมืองกับพรรคประชาชาติ ที่มีนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้า และปัจจุบันเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ช่วงก่อนเลือกตั้ง หม่อมราชวงศ์ดำรงดิศ กล่าวว่า ภราดรภาพเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ในทุกๆ ชาติพันธ์ุที่เป็นคนไทย ภายใต้ชื่อโครงการ “เท่าเทียมทั่วไทย” ที่นำมาใช้เป็นสโลแกนในการหาเสียงทั่วประเทศในการเลือกตั้งปี 2562
- หม่อมราชวงศ์ดำรงดิศ ดิศกุล อดีตหัวหน้าพรรคภราดรภาพ -
หม่อมราชวงศ์ดำรงดิศ ประกาศจุดยืนพรรคด้วยว่า มีหลักคิดยึดเรื่องความสามัคคี พร้อมร่วมงานการเมืองได้กับทุกฝ่ายทั้งฝ่ายที่เอาทหารและไม่เอาทหาร แต่ไม่ใช่พรรคสาขาของพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน เพราะคนอย่างตนสั่งยาก
สำหรับนโยบายที่น่าสนใจของพรรค ได้แก่ นโยบายที่มาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นและดูแลพื้นฐานชีวิตของคนไทยในทุกๆ อาชีพ ซึ่งนโยบายต่างๆ เหล่านี้เป็นงบประมาณที่ได้มาจากการดำเนินการหาแหล่งเงินเพิ่มเติม (ตัวเลขในวงเล็บ) โดยไม่ใช้วิธีกู้เงินแต่เป็นการโยกงบประมาณในส่วนอื่นที่มากเกินความจำเป็นมาช่วยในการดำเนินนโยบาย รวมไปถึงการเจรจากับธุรกิจภาคเอกชนขนาดใหญ่เพื่อลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ลดดอกเบี้ยบ้านให้อยู่ที่ 3% ตลอดอายุสัญญา, รถมอเตอร์ไซค์คันแรก ดอกเบี้ย 0% ตลอดอายุสัญญา, เรียนฟรี ถึงปริญญาตรี, เพิ่มเงินเดือนทหารกองประจำการภาคสมัครใจ เงินเดือน 15,000 บาท (เพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท), เพิ่มสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อเพิ่มคุณภาพในการรักษาพยาบาล (เพิ่มจากเดิมอีก 40,000 ล้านบาท), สร้างแหล่งธรรมชาติอย่างกลมกลืนกลางเมืองและรอบเมืองใหญ่ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม (2,000 ล้านบาท)
หม่อมราชวงศ์ดำรงดิศบอกว่า แหล่งที่มาของรายได้ใหม่จะมาจากการสร้างเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์เพื่อการท่องเที่ยว (นำเงินรายได้จากภาษีการพนันมาใช้ในการพัฒนาสวัสดิการด้านสุขภาพและการศึกษาของคนไทย), เพิ่มภาษีคนรวย ที่มีธุรกิจขนาดใหญ่และมีรายได้ รวมถึงทรัพย์สินมากกว่าที่กฎหมายกำหนด (นำเงินมาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับนักธุรกิจรายย่อย และสำหรับผู้ต้องการเริ่มทำธุรกิจ)
อย่างไรก็ตาม เมื่อจบศึกการเลือกตั้งปี 2562 พรรคภราดรภาพได้คะแนนเสียงจากทั่วประเทศเพียง 27,799 คะแนน ทำให้ไม่ได้ส.ส.สักที่นั่ง และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งบริหารของพรรค
หลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคภราดรภาพทำการประชุมปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยกับแนวคิดของทุกภาคส่วน และจัดประชุมใหญ่ในปลายปี 2562 ณ ที่ทำการพรรคภราดรภาพได้ทำการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติเอกฉันท์เลือก ร.อ.รชฏ ให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรคคนใหม่เพื่อนำทัพสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป
- พันธ์ยศ อัครอมรพงศ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคคนปัจจุบัน -
ในการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคชุดที่ 3 ซึ่งเป็นชุดปัจจุบัน นอกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแล้ว นายสมบูรณ์ จิตตระบูรณ์ ยังได้นั่งเป็นเลขาธิการพรรค ส่วนหม่อมราชวงศ์ดำรงดิศ อดีตหัวหน้าพรรคนั่งตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค และนายพันธ์ยศ อดีตเลขาธิการพรรคก็ย้ายไปเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคแทน ร.อ.รชฏ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน
- ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร หัวหน้าพรรคภราดรภาพคนปัจจุบัน -
สำหรับบทบาทของ ร.อ.รชฏ หลังจากการรัฐประหารในปี 2549 เขาและสมาชิกพรรคไทยรักไทยบางส่วน ได้ย้ายไปสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มมัชฌิมา ซึ่งนำโดยนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน (ภรรยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งปัจจุบันเป็นรมว.ยุติธรรม) และกลุ่มนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาราช
สมัยนั้น ร.อ.รชฏ ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการพรรคมัชฌิมาธิปไตย และเป็นรองหัวหน้าพรรคตามลำดับ แต่หลังจากนั้นต้องยุติบทบาททางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากคำพิพากษาคดียุบพรรคมัชฌิมาธิปไตยในปี 2551
ช่วงถูกเว้นวรรคทางการเมือง ร.อ.รชฏ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจในกระทรวงพาณิชย์ (องค์การคลังสินค้า) ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี (ระหว่างปลายปี 2551 ถึงเดือน ส.ค. 2554)
เมื่อพ้นโทษแบนทางการเมือง 5 ปี ร.อ.รชฏ จึงมาร่วมงานกับพรรคภราดรภาพจนถึงปัจจุบัน