กลุ่มประชาสังคม หนุนตั้ง ส.ส.ร. ถกร่าง รธน. ใหม่
แนะโละ ส.ว. จาก รธน. ชี้ไร้ความอิสระ กลุ่มประชาสังคม หนุนตั้ง ส.ส.ร. ถกร่าง รธน. ใหม่ พร้อมหนุนปรับระบบเลือกตั้ง ให้ "นายกฯ" มาจากเลือกตั้งตรงของ ปชช.
คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในกมธ.ศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแบบกลุ่มเฉพาะเจาะจง กลุ่มที่สอง ภาคประชาสังคม และกลุ่มที่สาม กลุ่มสตรีโดยมีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมจำนวนหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนองค์กรที่เข้าร่วม ได้เสนอความเห็นต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลากหลายประเด็น โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ คือ สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 256 เพื่อกำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยส.ส.ร. ต้องมาจากกลุ่มคนที่หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ
โดยนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหารภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เสนอให้มีสมาชิกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนแต่ละพื้นที่ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำหน้าที่ปฏิรูปการเมืองร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากทุกฝ่าย เสนอให้มีตัวแทนของนักการเมืองในรัฐสภา เข้ามามีส่วนร่วม โดยให้มีส.ส. จำนวน 10 คน และ ส.ว. จำนวน 2-5 คน นอกจากนั้นให้มีตัวแทนกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ขณะที่นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีเนื้อหาที่สั้น ระบุเฉพาะหลักการพื้นฐานของรัฐ แนวทางประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ กับรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ขณะที่เนื้อหาเกี่ยวกับหน้าที่ต่างๆ กฎหมายพรรคการเมือง สามารถออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ได้ ทั้งนี้ตนเห็นด้วยกับ 2 แนวทาง เพื่อเปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ แก้ไขมาตรา 256 กำหนดให้มีส.ส.ร. ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนั้นเห็นด้วยที่ให้ส.ส.เสนอต่อรัฐสภาเพื่อแก้ไขในเนื้อหาเป็นรายมาตรา ขณะที่บทบาทของส.ว. ขอให้ตัดออกจากรัฐธรรมนูญ ส่วนบทบาทขององค์กรอิสระ ควรกำหนดอายุให้สอดคล้องกับระยะเวลาเลือกตั้งของส.ส. เช่น 4 ปีเป็นต้นและพิจารณายุบ หรือยกเลิกองค์กรอิสระที่ไม่มีความจำเป็น
“ระบบเลือกตั้งควรพิจารณาให้เป็นเสรีประชาธิปไตย ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้มีบัญชีรายชื่อและส.ส.เขตเลือกตั้ง นอกจากนั้นควรให้สิทธิประชาชนที่ทำงานนอกพื้นที่ภูมิลำเนาควรมีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ทำงาน เหมือนกับทหารที่ย้ายกรมกอง สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ตั้งของกรม กองได้ ขณะที่เนื้อหารัฐธรรมนูญควรเขียนบทบัญญัติว่าด้วยกระจายอำนาจให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เช่น เลือกตั้งผู้ว่าราชการทั่วประเทศ, ปฏิรูปกองทัพ ผ่านการเขียนแผนเพื่อปฏิรูปหน่วยงานภายในทุกๆ 3 ปี ให้ทันสมัยหรือลดงบประมาณ เป็นต้น ”นายเมธา เสนอความเห็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ตัวแทนองค์การที่เข้าร่วม เสนอความเห็นด้วยว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เสนอให้บัญญัติเนื้อหาห้ามนิรโทษกรรมผู้ที่ปฏิวัติ ฉีกรัฐธรรมนูญโดยอัตโนมัติ แต่ต้องให้ประชาชนลงความเห็น ผ่านการทำประชามติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดจารีตทางการเมือง ขณะที่แนวทางทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจ ต่อรอง และคานอำนาจกลุ่มอิทธิพล, กลุ่มทุนใหญ่อย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้การเรียกร้องของประชาชนคือการชุมนุมบนถนน อย่างไรก็ตามเสนอให้นายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพื่อให้นายกฯ เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่ใช่รับผิดชอบต่อส.ส. หรือส.ว. และยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วย ส.ว. ออกจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่าส.ว. ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งไม่มีความอิสระอย่างแท้จริง
ขณะที่ตัวแทนกลุ่มคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 256 (1) ที่กำหนดให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม มาจากการเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ ส.ส. หรือส.ส.รวมกับส.ว. โดยเปิดทางให้ภาคประชาชนเข้าชื่อ ไม่ต่ำกว่า 50,000 ชื่อสามารถยื่นเรื่องต่อรัฐสภาได้อีกช่องทาง