ปรับ ครม. กู้วิกฤติ มรสุมโควิด19 - กักตุนหน้ากากอนามัย

ปรับ ครม. กู้วิกฤติ มรสุมโควิด19 - กักตุนหน้ากากอนามัย

ปัญหาการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซ้ำด้วยข้อกล่าวหาแรงๆ ว่าด้วยคนในรัฐบาลอาจจะเกี่ยวพันกับขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย ทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลและ “นายกฯ ลุงตู่” ดิ่งลงอย่างหนัก

เรียกว่าเจอพิษ โควิดจนเข้าขั้น โคม่า

ถึงนาทีนี้กระแสปรับ ครม.มาแรงอย่างยิ่ง (จริงๆ มาแรงน้อยกว่ากระแสให้ลุงตู่ลาออก) โดยรัฐมนตรีอันดับ 1 ที่ถูกเรียกร้องให้ปรับออกคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือ “ผู้กองนัส” รมช.เกษตรและสหกรณ์ 

จะว่าไป “ผู้กองธรรมนัส” ก็โดนกระแสกดดันให้ปรับพ้น ครม.มาก่อนแล้ว หลังจากโดนรุมยำในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนทำให้ได้คะแนนไว้วางใจต่ำสุดในจำนวน 6 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ขณะที่ “กลุ่ม 17 ส.ส.” ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาประกาศไม่ไว้วางใจ “ผู้กองธรรมนัส” ด้วยเช่นกัน แต่อ้างว่าต้องจำยอมต้องโหวตไว้วางใจตามมติพรรค

ล่าสุด “สหายผู้กอง” ยังมาโดนกระแสพัวพันขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัยซ้ำอีก แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่กระแสเรียกร้องให้ลาออกก็หยุดไม่อยู่ มีทั้งจากในพรรค นอกพรรค โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ถึงขนาดใช้วาทกรรม หยุดพายเรือให้โจรนั่ง

งานนี้ต้องวัดใจนายกฯ ว่าจะเอาอย่างไร เพราะ “ผู้กองธรรมนัส” มีผลงานพา ส.ส.เหนือตอนบน ตอนล่าง และอีสานบางส่วน เข้าสภาให้พรรคพลังประชารัฐจำนวนมาก จนสามารถตั้งรัฐบาลได้ ทั้งยังทำหน้าที่ “คนเลี้ยงลิง” คอยแจกกล้วยดูแลพรรคเล็ก ที่ออกมาเรียกร้องเขย่ารัฐบาลอยู่เนืองๆ ด้วย ถือว่ามีบทบาทสูงมากต่อเสถียรภาพรัฐบาล

และเจ้าตัวก็เพิ่งออกมายืนกรานแบบมั่นใจว่าถึงอย่างไรก็ไม่ลาออก

การปรับ ครม.ดูจะเป็นจังหวะก้าวการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ 1.ดอน ปรมัตถ์วินัย น่าจะลาออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ค่อนข้างแน่ จึงต้องมีการปรับ ครม.

2.พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคต้องการปรับ ครม.เพื่อเพิ่มโควตาให้พรรคตัวเอง โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่ได้ ส.ส.อดีตอนาคตใหม่เพิ่มมา 9 คน และพรรคเล็ก 4 พรรคที่ไปรวมตัวกันเป็น “กลุ่มกิจสังคมใหม่” มีเสียงสนับสนุน 7 เสียง ถ้ารวมกับพรรคเล็กที่เหลือก็จะมีเสียงสนับสนุนสิบกว่าเสียง น่าจะได้รัฐมนตรี 1 เก้าอี้

3.กลุ่มก๊วนต่างๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีราวๆ 6 กลุ่ม ก็มีกระแสเรียกร้องจากบางกลุ่มให้ปรับ ครม. โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตร และกลุ่ม สุชาติ-วิรัช

แต่ปัญหาคือกลุ่มที่เหลือแม้ไม่ได้ขอตำแหน่ง แต่ก็ไม่ยอมเสียเก้าอี้ที่นั่งอยู่ ฉะนั้นจึงเป็นโจทย์ยากของ “นายกฯ ลุงตู่” ว่าจะปรับ ครม.อย่างไร เนื่องจากดูตอนนี้มีเก้าอี้รัฐมนตรีว่างแค่ 2 เก้าอี้คือ ดอนที่มีแนวโน้มลาออกแน่ๆ กับ “ผู้กองธรรมนัส” ถ้าถูกปรับออก

หากเราพิจารณาเสียงสนับสนุนของรัฐบาล จะพบว่าจากที่เคยมีเสียง ส.ส.ในมือราวๆ 254 เสียงช่วงตั้งรัฐบาลใหม่ๆ จนถูกขนานนามว่า “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” แต่ผ่านมาไม่ถึงปี รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนมากถึง 274 เสียงแล้ว ในจำนวนนี้นับรวมงูเห่าอนาคตใหม่ทั้งล็อตแรกก่อนยุบพรรคและล็อต 2 หลังยุบพรรค รวมถึงการเอาชนะศึกเลือกตั้งซ่อม 3 สนามของพรรคพลังประชารัฐด้วย

ขณะที่ฝ่ายค้านมีเสียงสนับสนุนลดลงจาก 244 เสียง เหลือแค่ 214 เสียงเท่านั้น ห่างกันถึง 60 เสียง ทำให้รัฐบาลไม่ได้มีปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ” อีกต่อไป ศึกในสภาจึงไม่น่าวิตกอีกแล้ว แต่ศึกในพรรคร่วมรัฐบาลเองต่างหากที่ต้องกังวล

เพราะเมื่อรัฐบาลมีเสียงเพิ่มขึ้น 20 เสียง (จาก 254 เป็น 274) โควตารัฐมนตรีก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากสัดส่วน ส.ส.ต่อเก้าอี้รัฐมนตรี 7 ต่อ 1 เป็น 8 ต่อ 1

ที่ผ่านมาตอนตั้งรัฐบาล ก็มีความลักลั่นในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่พอสมควร โดยพรรคร่วมรัฐบาลมี 20 พรรค แต่มีเพียง 6 พรรคที่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี

หากไม่นับพรรคแกนนำอย่างพลังประชารัฐ ก็มีพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส. 52 คน พรรคภูมิใจไทย ส.ส. 51 คน ได้รัฐมนตรีพรรคละ 7 เก้าอี้เท่ากัน คิดจากอัตราส่วน ส.ส.ราวๆ 7 ต่อ 1

นอกจากนั้นก็มีพรรคชาติไทยพัฒนา มี ส.ส.10 คน ได้รัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย ส.ส. 5 คน ได้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง และพรรคชาติพัฒนา ส.ส. 3 คน ได้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง 

รวมเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล 18 เก้าอี้ เหลืออีก 17 เก้าอี้เป็นของพรรคพลังประชารัฐ ไม่นับเก้าอี้นายกฯ

จะเห็นได้ว่าพรรคเล็กๆ พรรคละ 1-3 เสียง แม้จะพยายามรวมกลุ่มกันแต่ก็ไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะที่ล่าสุด 4 พรรคเล็กได้รวมตัวกันเป็น “กลุ่มกิจสังคมใหม่” 7 เสียงอย่างที่บอก หากรวมกับพรรคเล็กที่เหลือก็มีมากกว่า 10 เสียง ทำให้น่าคิดว่าปรับ ครม.หนนี้ กลุ่มของพวกเขาจะต้องได้รับเก้าอี้รัฐมนตรีบ้างหรือไม่ (เพราะชาติพัฒนา 3 เสียง ยังได้ 1 เก้าอี้)

ขณะที่พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส.เพิ่มเป็น 60 คน จะต้องได้เก้าอี้รัฐมนตรีเพิ่มหรือไม่

ถ้าภูมิใจไทยได้รัฐมนตรีเพิ่ม และต้องจัดสรรให้กลุ่มกิจสังคมใหม่ คำถามก็คือพรรคไหนจะยอมสละเก้าอี้ หวยจะไปออกที่ประชาธิปัตย์ หรือชาติพัฒนา หรือชาติไทยพัฒนา แล้วทั้ง 3 พรรคนั้นจะยอมหรือไม่

ย้อนกลับมาที่พรรคพลังประชารัฐ มีทั้งโควตากลางคือโควตานายกฯ กับโควตาของกลุ่มต่างๆ ภายในพรรค ปัจจุบันนับได้ 6 กลุ่มเป็นอย่างน้อย เริ่มจากกลุ่มสามมิตร กลุ่ม “สุชาติ ชมกลิ่น-วิรัช รัตนเศรษฐ” กลุ่มผู้กองธรรมนัส กลุ่ม กทม. กลุ่มภาคใต้ หรือกลุ่มด้ามขวานไทย และกลุ่มสนธิรัตน์

 

จะเห็นได้ว่าแต่ละกลุ่มมีตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ในครอบครอง ยกเว้นกลุ่มภาคใต้ที่มี ส.ส.13 คน แต่ไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีเลยแม้แต่ตำแหน่งเดียว ขณะที่กลุ่มสนธิรัตน์ที่นำโดย สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคและรัฐมนตรีพลังงาน ไม่มี ส.ส.เลย แต่กลับมีเก้าอี้รัฐมนตรีถึง 3 เก้าอี้ (สนธิรัตน์-อุตตม-สุวิทย์) ทำให้ระยะหลังต้องดึง ส.ส.มาเป็นฐาน

นี่คือความยุ่งยากของการปรับ ครม. เพราะทั้ง 6 กลุ่มมีทั้งที่ต้องการเก้าอี้รัฐมนตรีเพิ่ม หรือไม่ขอเพิ่มแต่ก็กางปีกรักษาเก้าอี้เดิมเอาไว้ ขณะที่บางกลุ่มที่ยังไม่เคยได้ ก็ต้องขอเก้าอี้บ้างในการปรับ ครม.หนนี้ เช่นกลุ่มภาคใต้ แต่เก้าอี้รัฐมนตรีทั้งหมดมีเท่าเดิม

ทางออกที่พอมองเห็นก็คือ นายกฯ ต้องสละ โควตากลางไปให้พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก็มีอยู่ 2 ตำแหน่งที่สละได้ หนึ่งคือดอนที่จะลาออกอยู่แล้ว กับสองคือตำแหน่ง รมช.กลาโหมของ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล

แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะกลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐต่างก็รอเก้าอี้อยู่ และเคลื่อนไหวแสดงพลังกันเป็นระยะ เช่น กลุ่มสามมิตรกับกลุ่ม “สุชาติ-วิรัช” ก็ผลักดัน “2 ฮ.” คือ “เสี่ยแฮงก์” อนุชา นาคาศัย กับ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี งานนี้จึงต้องมีผู้เสียสละ และถือเป็นโจทย์ยากที่จะวัดบารมี “นายกฯ ลุงตู่” ว่ายังมี “กำลังภายใน” มากพอที่จะจัดการทุกอย่างให้ลงตัว หรือจะเริ่มนับถอยหลังจมรัฐนาวา

หรืองานนี้จะมีขับบางพรรคออกจากการร่วมรัฐบาล แล้วดึงพรรคเพื่อไทยเข้ามาเสียบแทน ตามที่เคยมีสูตรการเมือง รัฐบาลเสียงท่วมท้นมาก่อนหน้านี้