'ธนาธร' แนะรัฐบาล ควรใช้หลัก 'เฟส3' จัดการ 'โควิด-19'

'ธนาธร' แนะรัฐบาล ควรใช้หลัก 'เฟส3' จัดการ 'โควิด-19'

"ธนาธร" แนะ 3 มาตรการเร่งด่วนเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ระดมสรรพกำลังทุกทางช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ย้ำ 6 หลักปฏิบัติสำหรับประชาชนเพื่อผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถึงแนวทางการจัดการของรัฐบาลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด-19" ในวันนี้ โดยเขาแนะนำให้ใช้ หลักคิด "มาตรการสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด โดยหวังว่าเราจะไม่ไปถึงจุดนั้นจริงๆ" หรือ Hope for the best, but prepare for the worst. ซึ่งปรากฏในฟีดส่วนตัวว่า

จากการติดตามแนวโน้มข่าวสารและการพูดคุยกับเพื่อนๆ ในแวดวงสาธารณสุข ผมคิดว่าไม่ช้าไม่เร็วทางรัฐบาลจะต้องประกาศว่าเราเข้าสู่การแพร่ระบาดโควิด-19 เฟส 3 อย่างเป็นทางการแล้วเนื่องจากมีการติดต่อภายในประเทศในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มหาที่มาที่ไปไม่ได้แล้วในหลายกรณี

แต่ผมคิดว่าก่อนที่เราจะไปถึงจุดนั้น เราทุกคนทั้งภาครัฐและประชาชนทั่วไป ควรเริ่มใช้มาตรการเสมือนว่าเราอยู่ในเฟส 3 อย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อที่จะจำกัดการระบาดให้ได้มากที่สุด

หากผมเป็นรัฐบาล ผมจะ :

1.เปิดเผยบันทึกการสอบสวนโรคในส่วนของรายละเอียดการเดินทาง การใช้ชีวิตในวัน เวลา และสถานที่ต่างๆ ของผู้ที่ติดเชื้อก่อนหน้านี้(โดยไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล) เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบจริงๆ และประเมินได้ถูกต้องว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน (ในส่วนนี้ กระทรวงสาธารณสุขกล่าวเมื่อวานทำนองว่าอยู่ในแผนที่จะต้องทำอยู่แล้ว เปิดเผยอยู่แล้ว แต่ผมเข้าใจว่ายังไม่มีการทำอย่างจริงจังในรูปแบบที่ดูง่าย ละเอียด และไม่กระจัดกระจาย ดังนั้น ผมขอเสนอตัวเพื่อช่วยกระทรวงสาธารณสุขในการนำเสนอรายละเอียดพวกนี้ด้วยอีกแรงหนึ่ง เรามีทีมงานที่พร้อมนำข้อมูลมาเสนอให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย หากท่านสนใจก็สามารถติดต่อเข้ามาได้เลย ผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง)

2.ทุ่มสรรพกำลังทุกทางเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การตรวจเชื้อให้ทำในเชิงรุกและกว้างขวางมากขึ้นอย่างน้อย 10 เท่า และผู้คนทั่วไปต้องเข้าถึงการตรวจได้ง่ายขึ้นด้วย วิธีการเช่นนี้อาจจะทำให้เราเสียงบประมาณและทรัพยากรไปมากพอสมควร แต่ก็ไม่มากเกินไปสำหรับการทำให้เราทราบได้ว่าแท้จริงแล้วมีผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ทั่วไปจริงหรือไม่ หรือในประเทศเราไม่ได้มีผู้ติดเชื้อมากขนาดนั้นและยังอยู่ในวงจำกัดกับเคสก่อนหน้า ซึ่งตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเราไปอยู่ระดับไหนแล้วกันแน่

และเราควรขยายนิยามผู้ป่วยต้องสงสัย(Suspected Case) ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก(WHO)ให้มีความหมายกว้างและไวขึ้น เพื่อให้เราล้ำหน้าสถานการณ์ไปอีกขั้น เพื่อให้เคสอย่างแมททิว-เซียนมวยบางคนไม่ต้องดิ้นรนไปตรวจเอง(แล้วพบว่าติดเชื้อซะด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับความสะดวกในการตรวจจากโรงพยาบาลรัฐเนื่องจากข้อจำกัดของการคัดกรองในปัจจุบัน)

3.เรื่องหน้ากากอนามัย คงเป็นที่ชัดเจนแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เรามีหน้ากากไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนเป็นแน่แท้ ทางออกเดียวของรัฐบาลตอนนี้คือการรณรงค์ให้ปฏิบัติตามแนวทางของ WHO ว่าถ้าไม่ป่วย ไม่มีอาการ หรือไม่เสี่ยง ก็ไม่ต้องใส่ เพื่อให้มีสินค้ามากเพียงพอสำหรับผู้ที่จำเป็น ได้แก่ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่ต้องอยู่ในจุดเสี่ยง


สำหรับประชาชน :


1.เริ่มใช้มาตรการ Social Distancing หรือ “การรักษาระยะห่างทางสังคม” อย่างเป็นทางการ ลดละและหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หากจำเป็นต้องพบเจอก็ต้องรักษาระยะห่างและรักษาความสะอาดตลอดเวลา

2.ศึกษาและใช้มาตรการ Self-quarantine หรือ “การกักตนเอง” อย่างจริงจังเมื่อพบว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้

3.ไม่จำเป็นต้องกักตุนสินค้า แต่ต้องลดความถี่ในการไปจับจ่ายใช้สอยลง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

4.เนื่องจากสถานการ์ข้อจำกัดทางด้านบุคลากรและทรัพยากรบางประการทำให้การตรวจไม่เป็นไปอย่างกว้างขวางและจำนวนมากเท่าที่ควรจำเป็นตามที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่าเราอาจไม่ได้รับการตรวจเชื้อ แม้จะมีความเสี่ยงหรือมีอาการน่าสงสัย ดังนั้นผมจึงเสนอว่าผู้ที่สงสัยว่าตัวเองติดเชื้อหรือมีอาการ ให้ทำการ self-quarantine ไปเลยโดยไม่ต้องรอการยืนยันผลตรวจจากทางการ และจะออกสาธารณะอีกครั้งก็ต่อเมื่อพ้นระยะเวลาต้องเฝ้าสังเกตอาการแล้ว หรือเมื่อจำเป็นต้องเขารับการรักษาในโรงพยาบาล

5.โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเดียว แต่ยังส่งผลรุนแรงต่อการทำมาหากินของประชาชนด้วย ดังนั้น หากเป็นไปได้ ก็ต้องช่วยอุดหนุนสินค้าบริการของประชาชนด้วยกันเองก่อนที่จะไปอุดหนุนกลุ่มทุนใหญ่(ที่สายป่านยาว ไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับประชาชนหาเช้ากินค่ำ)

6.ผมไม่สามารถพูดได้ว่า “ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก” เพราะคนเราจะตระหนกหรือไม่นั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่สำหรับผม การที่เราจะใช้มาตรการเข้มงวดจริงจังตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้นน่าจะเป็นผลดีมากกว่าในการควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปจนเราควบคุมไม่อยู่ (และหากควบคุมไม่อยู่ ก็จะมีผู้ป่วยหนักจำนวนมาก ทำให้เตียงและหน่วยดูแลทางการแพทย์มีไม่พอ ทำให้เราอยู่ในสถานการณ์แบบอู่ฮั่นในช่วงแรก หรือแบบอิตาลีในตอนนี้ ที่แพทย์จะต้องเลือกว่าใครจะอยู่หรือจะไป และส่วนใหญ่ก็จำใจเลือกคนหนุ่มสาวก่อนผู้สูงอายุเพราะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น) ดังนั้นมาตรการเหล่านี้ หากเราใช้อย่างจริงจังล่วงหน้าไปเลย น่าจะดีกว่าที่เราจะมาเสียใจในภายหลัง

รอติดตามการแถลงข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข 15.00 น. ด้วยกันครับ
Hope for the best, but prepare for the worst.