ภูเก็ต เตรียมปรับหอประชุมศาลากลางหลังใหม่ เป็นโรงพยาบาลสนาม
ภูเก็ต เตรียมปรับอาคารหอประชุมศาลากลางหลังใหม่ เป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับหากผู้ติดเชื้อโควิค-19 ระยะ 3 ยืนยันปัจจุบันห้องในโรงพยาบาลรัฐ-เอกชนมีเพียงพอรองรับ
สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จังหวัดภูเก็ต ได้สรุปสถานการณ์การติดเชื้อ ล่าสุดระบุว่า มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 13 คน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 6 คน รักษาหายแล้ว 2 คน และมีผู้ป่วยที่รอผลตรวจยืนยัน จำนวน 23 คน รวมผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลต่างๆ ในภูเก็ต ทั้งภาครัฐและเอกชน รวม 34 คน
เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หากรัฐบาลประกาศการแพร่ระบาดเข้าสู่ระยะ 3 นั้น นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ทางจังหวัดภูเก็ต โดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ได้มีการประชุมหารือและเตรียมความพร้อมรับมือกรณีที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และจำเป็นจะต้องมีโรงพยาบาลสนาม ซึ่งได้มีการเสนอสถานที่ในการดำเนินการไว้แล้ว โดยมอบหมายให้ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เบื้องต้นได้เสนอสถานที่ดำเนินการไว้ 3 แห่ง ได้แก่ โรงยิมเนเซี่ยม 4,000 ที่นั่ง บริเวณศูนย์กีฬาสะพานหิน, อาคารหอประชุม ศาลากลางหลังใหม่ (บริเวณถนนไร้ฝุ่น และหอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
ขณะที่ นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า จากการสำรวจความเหมาะสมของทั้ง 3 สถานที่ คือ โรงยิมเนซี่ยม 4,000 ที่นั่ง, อาคารหอประชุม ศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ และหอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต พบว่า อาคารหอประชุม ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตหลังใหม่มีความเหมาะสมที่สุด เบื้องต้นจะทำการปรับปรุงบริเวณพื้นที่ชั้นล่างของศูนย์ประชุม ซึ่งสามารถรองรับได้ประมาณ 50 เตียง หากไม่เพียงพอก็สามารถเพิ่มเติมในส่วนของชั้น 2 ได้ ส่วนของโรงยิมเนเซียม 4,000 ที่นั่ง ไม่ค่อยเหมาะนักเนื่องจากเป็นพื้นที่อับ และหอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เนื่องจากพื้นเป็นพรมไม่เหมาะในการดำเนินการด้านการแพทย์ ทั้งนี้ทางทีมของโรงพยาบาลฯ จะเข้าไปปรับพื้นโรงพยาบาลสนามในวันนี้ (23 มี.ค.63)
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า การจัดทำโรงพยาบาลสนามนั้น เป็นการเตรียมความพร้อมในกรณีที่จำนวนผู้ป่วยและผู้ต้องเฝ้าสังเกตอาการเพิ่มมากขึ้น และโรงพยาบาลของรัฐกับโรงพยาบาลเอกชนซึ่ง ไม่สามารถรองรับได้แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีเตียงรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้รวมประมาณ 80 เตียง แต่เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถรองรับได้จำเป็นจะต้องใช้โรงพยาบาลสนาม เพราะในส่วนของผู้ป่วยที่ติดเชื้อนั้นทางโรงพยาบาลจะทำการรักษาที่โรงพยาบาลจนกว่าจะหายเป็นปกติ และผลการตรวจเชื้อออกเป็นลบเท่านั้น จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้