'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' ประกาศแล้ว 'เคอร์ฟิว' จะตามมา!?
สิ่งที่ซ่อนอยู่ หลังประกาศใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ทำให้ "เคอร์ฟิว" คือกรอบปฏิบัติพิเศษเพื่อทำให้สถานการณ์อยู่ในความเรียบร้อยราบคาบ คำถามที่ตามมาก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากนี้?
กระแสข่าวลือเกี่ยวกับการประกาศ "เคอร์ฟิว" ของรัฐบาลที่แพร่สะพัดไปทั่วเมื่อวานนี้ (23 มีนาคม 2563) ก็ถูกคลี่คลายด้วยคำแถลงเตรียมประกาศใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 24 มีนาคม 2563
"รัฐบาลได้พิจารณามาโดยตลอด เรื่องการประกาศ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 วันนี้เราจะเอา พ.ร.ก.ฉบับนี้มาประกาศ ซึ่งผมจะประกาศใช้ในวันมะรืนนี้ (26 มี.ค.63)" - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (24 มีนาคม 2563)
โดยสิ่งที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญที่สุดในการแถลงครั้งนี้ก็คือ การจัดระเบียบในการทำงาน และการยกระดับศูนย์โควิด เป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหาโควิดนี้ หรือ ศอฉ.โควิด และมีคณะทำงานข้างล่างสอดประสานกันโดยมีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์จะนั่งหัวโต๊ะบัญชาการเอง
"เพราะอำนาจต่างๆทั้งหมดกฎหมายทั้งหมด จะมาอยู่ที่นายกเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริงในการทำงานตรงนี้" - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (24 มีนาคม 2563)
คำถามสำคัญที่ตามมาหลังการประกาศใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ก็คือ แล้วหลักปฏิบัติของ "เคอร์ฟิว" จะครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง?
หากย้อนกลับไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับ พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวระบุว่า "พระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบ หรือ อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้นครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือ การป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง
รายละเอียดตามมาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
- ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
- ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
- ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร
- ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
- ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
- ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด
ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้
ข้อกำหนดเรื่องเวลา "เคอร์ฟิว" น่าจะเป็นประเด็นที่ใครหลายคนจับตามอง ซึ่งตอนนี้มีการคาดการณ์ว่า ช่วงเวลา 21.00-05.00 น. ติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ลำดับการดำเนินการนั้น จะมีการจัดตั้งคณะทำงานผู้รับผิดชอบต่อไปถึงการจัดการภายในศูนย์ โดยจะมีหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดมาเสนอ และรายงานสถานการณ์ให้ทราบ หากมีอะไรเพิ่มเติมก็จะประกาศออกไป ซึ่งข้อกำหนดสามารถออกได้ตลอดเวลาเป็นรายวัน
โดยระยะที่ 1 ที่จะประกาศ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" หรือ "เคอร์ฟิว" ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ จะเป็นเรื่องการทำอย่างไรให้ลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในการขอความร่วมมือ หรือการบังคับ แต่ในส่วนจะปิดหรือเปิดอะไรต่างๆ นั้น เป็นมาตรการในระยะต่อไปที่อาจเข้มข้นขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน ตั้งแต่การกักตัวที่บ้าน หรือในพื้นที่ถ้าจำเป็น ก็มีสถานที่กักตัวของรัฐเพิ่มเติมขึ้น ในกรณีมีการแพร่ระบาดหรือตรวจสอบพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น เราจำเป็นต้องหามาตรการอื่นมารองรับ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม พื้นที่กักตัวขนาดใหญ่ และการจัดหาวิชาการต่างๆ ให้เพียงพอกับการรับมือการระบาด
"สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการหารือกันในแต่ละวันใน ศอฉ. ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ถ้าตื่นตระหนกมันก็คือปัญหา เราต้องฟังรัฐบาล โดยการให้ข่าวและข้อมูลมี 2 ช่องทางคือการให้ข้อมูลในโซเชียลต่างๆ รวมถึงทวิตเตอร์ โดยตั้งแต่เช้าถึงเย็นจะมีศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ทั้งงของสาธารณสุขกระทรวงคมนาคมกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีการแถลงทั้งวันและจะมีช่องทางให้ทุกคนสอบถามหรือโทรศัพท์เข้ามา ในส่วนของวาระสรุปก็เป็นเรื่องของโฆษกฯ และศอฉ. จะสรุปประเด็นสำคัญในแต่ละวันให้ทราบ จึงขอให้รับฟังช่องทางของรัฐบาลเป็นหลัก" - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (24 มีนาคม 2563)
นอกจากนั้น ประเด็นสำคัญในสถานการณ์ใต้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" หรือ "เคอร์ฟิว" ที่ต้องระมัดระวังคือเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งมาตรการปฏิบัติที่เข้มข้นขึ้นกว่าในวาระการบังคับใช้กฎหมายปกติ ไม่ว่าจะเป็น การแต่งตั้งเจ้าพนักงาน จัดตั้งด่านตรวจจุดสกัด เตรียมกำลังและเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือส่วนราชการต่างๆในการทำงาน โดยทุกอย่างจะดำเนินอย่างเป็นขั้นตอน
ยิ่งไปกว่านั้น โซเชียลมีเดีย หรือ ออนไลน์ ก็เป็นอีกประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำว่า ต้องได้รับการตรวจสอบทั้งสิ้นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทุกคนมีอำนาจในทางคดีอาญาด้วยในขณะนี้ สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ไม่ว่าจะเป็นการกักตุนสินค้าหรืออะไรต่างๆ รวมทั้งการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค จะมีความเข้มงวดไปเรื่อยๆ
ทั้งหมดเราจะได้เห็นกันนับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ถือว่าเป็นวัน ดีเดย์ "เคอร์ฟิว" ไปอีก 1 เดือนนับจากนี้