เปิดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 13 กลุ่มสาขาอาชีพ
เช็คด่วน! เปิดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 13 กลุ่ม รวม 64 สาขาอาชีพ มีผลบังคับใช้ 1 พ.ค.เป็นต้นไป
ตามที่ครม.มีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 9) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจำนวน 13 กลุ่มสาขาอาชีพ/กลุ่ม อุตสาหกรรม รวม 64 สาขาอาชีพ ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป ดังนี้
1.กลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ อาทิ นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (โภชนบำบัด) ระดับที่ 1 อัตราค่าจ้าง 680 บาทต่อวัน ระดับที่ 2 นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (โภชนบำบัด) อัตราค่าจ้าง 900 บาทต่อวัน
2.กลุ่มสาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ แต่ละสาขา อาทิ ช่างไฟฟ้าอาคาร ช่างปรับอากาศฯ ในระดับที่ 1-3 อัตราค่าจ้างทุกสาขาอาชีพเท่ากันคือ ระดับที่ 1 อัตราค่าจ้าง 440 บาทต่อวัน ระดับที่ 2 อัตราค่าจ้าง 550 บาทต่อวัน และระดับที่ 3 อัตราค่าจ้าง 660 บาทต่อวัน ยกเว้นช่างอิเล็กทรอนิกส์ (โทรทัศน์)
3.กลุ่มสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ อาทิ ช่างประกอบท่อ ระดับที่ 1 อัตราค่าจ้าง 540 บาทต่อวัน ช่างเชื่อมทิก ระดับที่ 2 อัตราค่าจ้าง 680 บาทต่อวัน และระดับที่ 3 อัตราค่าจ้าง 855 บาทต่อวัน
4.กลุ่มสาขาอาชีพช่างก่อสร้าง อาทิ ช่างหินขัด ช่างฉาบยิบซัม และช่างมุงหลังคากระเบื้องคอนกรีต ระดับที่ 1 อัตราค่าจ้าง 440 บาทต่อวัน ช่างมุงหลังคา กระเบื้องคอนกรีต ระดับ 2 อัตราค่าจ้าง 565 บาทต่อวัน และระดับที่ 3 อัตราค่าจ้าง 685 บาทต่อวัน
5.กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ระดับที่ 1 อัตราค่าจ้าง 455 บาทต่อวัน ระดับ 2 อัตราค่าจ้าง 540 บาทต่อวัน
6.กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ของระดับที่ 1 ทุกสาขาอาชีพอัตราค่าจ้างเท่ากันคือ 440 บาทต่อวัน ระดับที่ 2 ทุกสาขาอาชีพอัตราค่าจ้างเท่ากันคือ 550 บาทต่อวัน
7.กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณี ระดับที่ 1 ทุกสาขาอาชีพอัตราค่าจ้างเท่าคือ 465 บาทต่อวัน ขณะที่ระดับที่ 2 ทุกสาขาอาชีพอัตราค่าจ้างเท่ากันคือ 605 บาท
8.กลุ่มอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ ช่างเชื่อมทิกสำหรับอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ ระดับที่ 1 อัตราค่าจ้าง 550 บาทต่อวัน ระดับที่ 2 ช่างเชื่อมทิกสำหรับอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ อัตราค่าจ้าง 660 บาทต่อวัน
9.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อาทิ ช่างเชื่อมระบบท่อในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่อง ทำความเย็น ระดับที่ 1 อัตราค่าจ้าง 440 บาทต่อวัน ระดับที่ 2 อัตราค่าจ้าง 535 บาทต่อวัน
10.กลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ อาทิ ช่างเทคนิคเครื่องกัดอัตโนมัติ ระดับที่ 1 อัตราค่าจ้าง 495 บาทต่อวัน ระดับที่ 2 อัตราค่าจ้าง 595 บาทต่อวัน
11.กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก อาทิ พนักงานปรุงแต่งน้ำเหล็กในเตาปรุงน้ำเหล็ก (Ladle Furnace) ระดับที่ 1 อัตราค่าจ้าง 535 บาทต่อวัน ระดับที่ 2 อัตราค่าจ้าง 640 บาทต่อวัน
12.กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก อาทิ ช่างเทคนิคการซ่อมเครื่องเป่าถุงพลาสติก ระดับที่ 1 อัตราค่าจ้าง 440 บาทต่อวัน ระดับที่ 2 อัตราค่าจ้าง 551 บาทต่อวัน
13.กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า อาทิ พนักงานอัดพื้นรองเท้า และช่างเย็บรองเท้า ระดับที่ 1 อัตราค่าจ้างเท่ากันคือวันละ 405 บาท ระดับที่ 2 อัตราค้าจ้างเท่ากันคือวันละ 450 บาท
สำหรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ กับ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แตกต่างกันตรงที่ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เป็นค่าจ้างที่จ่ายตามทักษะฝีมือ เรียกว่าเป็นแรงงานกึ่งฝีมือและมีฝีมือ ซึ่งอาจจะมีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ โดยจะต้องเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของกระทรวงแรงงาน
อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือนี้ ต้องการสนับสนุนให้ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติแต่ละสาขาอาชีพ แต่ละระดับ ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม และยังช่วยกระตุ้นให้ลูกจ้างทั่วไปพัฒนาทักษะฝีมือของตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้ศักยภาพของแรงงานไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ขอบข้อมูลจาก ไทยคู่ฟ้า