'จีน' ถกอาเซียน+3 ชง 4 ข้อเสนอ ร่วมมือป้องกันโควิด-19 ฟื้นเศรษฐกิจ
"จีน" ชง 4 ข้อเสนอเชื่อมต่อการป้องกันและควบคุมไวรัสโควิด-19 ร่วมกัน พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจเร่งสร้างเครือข่ายดิจิตัล วงประชุมอาเซียน+3
เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 63 พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของจีนในการประชุมผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
1.ในวันนี้ (14 เม.ย. 63) จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน และผู้นำอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ปกติแล้วจะประชุมเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง แต่เนื่องด้วยขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทั่วโลกและทุกประเทศในอาเซียน ผู้นำอาเซียนจึงเห็นพ้องให้จัดการประชุมผ่านระบบทางไกลแทน
โดยในช่วงเช้าวันนี้ จะเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ และช่วงบ่ายจะเป็นการประชุมร่วมระหว่างผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม (จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้) ซึ่งเกิดจากข้อเสนอของจีนในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างวันที่ 19-21 ก.พ. 63 ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ที่จะให้มีการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
2 ข้อเสนอดังกล่าวของจีน ประกอบด้วย 4 ประการ ได้แก่
2.1 ประการแรกคือ การเสริมสร้างการเชื่อมต่อ การป้องกันและควบคุมร่วมกัน ส่งเสริมการประสานงานที่มีประสิทธิภาพและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุข กักกันโรค การขนส่ง และการเข้าและออกของทั้งสองฝ่าย การประชุมมัยพิเศษถูกจัดขึ้นในเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม มีการวางแผนและทิศทางของความร่วมมือในระดับที่สูงขึ้น
2.2 ประการที่สองคือ การมองในระยะยาวและสร้างกลไกความร่วมมือระยะยาว จัดตั้งกลไกการประสานงานกรณีฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจีน-อาเซียนเพื่อปรับปรุงความเร็วในการรับมือต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์สำรองสารพิษที่ใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
2.3 ประการที่สามคือ การรับมืออย่างมีเหตุผลและเอาชนะความตื่นตระหนก เคารพคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ร่วมมือกันฟื้นฟูการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและบุคลากรให้เป็นปกติโดยเร็ววัน
2.4 ประการที่สี่คือ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส บ่มเพาะความร่วมมือใหม่ๆให้เติบโตขึ้น ส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อเร่งสร้างเครือข่าย ระบบดิจิตัล ส่งเสริมความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่นการชำระเงินผ่านทางมือถือเป็นต้น ยกระดับการบริหารการจัดการขอเมือง การรับมือต่อเหตุฉุกเฉินสาธารณะที่สำคัญ รวมไปถึงความสามารถในการตัดสินใจและการประมวลผล
บทสรุป สำหรับผลจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและการประชุมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ซึ่งเป็นการประชุมผ่านระบบทางไกลในวันนี้ (14 เม.ย. 63) จะมีการรับรองปฏิญญาร่วม 2 ฉบับ ซึ่งจะยืนยันถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจาสามประเทศดังกล่าว ในการป้องกันและกำจัดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่คุกคามชีวิตของผู้คน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก