'กรรมาธิการ ส.ว.' เปิดช่องคุณสมบัติ 'ไม่ถนัด-ไม่เชี่ยวชาญ' นั่งได้ ?
ตกเป็นข่าวฮือฮาเมื่อราชกิจจานุเบกษาลงประกาศวุฒิสภาผ่านเว็บไซต์เมื่อ 16 เม.ย. ให้ “พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา” น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว.ลำดับ 108 จากการสรรหา นั่งเป็นกรรมาธิการการท่องเที่ยว
เมื่อส่องรายชื่อ กมธ.ท่องเที่ยว วุฒิสภา ทั้ง 19 คน พบว่า เป็นสัดส่วนของ “ส.ว.สายทหาร” 13 คน “ส.ว.สายตำรวจ” 1 คน และ ส.ว.สายพลเรือน 5 คน โดยมีอดีต ผบ.สูงสุด “พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมากระกร” ส.ว.สรรหา เป็นประธานกมธ.
ทำให้สังคมตั้งคำถาม ถึงความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่เกี่ยวเนื่องต่อการขับเคลื่อนงานของ กมธ.วุฒิสภาทันทีว่า เมื่อได้คนที่ไม่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญน้อย จะทำให้การทำหน้าที่ ปฏิบัติภารกิจในบทบาท กมธ.ตอบสนองความคาดหวังประชาชนได้หรือไม่
ก่อนจะกล่าวถึงประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม หากพิจารณาจำนวน ส.ว. ที่มีทั้งหมด 249 คน ซึ่งมาจากการสรรหาและเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ตามบทบัญญัติเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 พบสัดส่วนคนที่ถูกเลือกมาจากสายทหาร จำนวน 92 คน สายพลเรือน จำนวน 144 คน และสายตำรวจ จำนวน 13 คน
ต้องยอมรับว่าแต่ละคนล้วนถูกคัดให้เข้ามาทำงาน เพราะความใกล้ชิดและเป็นที่ไว้วางใจ
เมื่อโฟกัสรายละเอียดการทำงานภายใต้ กมธ.สามัญ ประจำวุฒิสภา ทั้ง 27 คณะ พบว่า ส.ว.สายทหาร นั่งตำแหน่งประธาน กมธ. มากสุดถึง 14 คณะกมธ. ส่วน ส.ว.สายพลเรือน นั่งประธานกมธ.จำนวน 11 คณะ และมี ส.ว.สายตำรวจ นั่งเป็นประธานกมธ. จำนวน 2 คณะ
ในส่วนของ “ส.ว.สายทหาร-ตำรวจ” อาทิ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ส.ว.สรรหา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็น ประธานกมธ.การเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตประธานกรรมการปฏิรูปตำรวจ เป็น ประธานกมธ.การทหารและความมั่นคงของรัฐ พล.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ส.ว.สรรหา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็น ประธานกมธ.แรงงาน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ส.ว.สรรหา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ส.ว.สรรหา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็น ประธานกมธ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ส.ว.สรรหา อดีตประธานกรรมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นั่งประธานกมธ.การคมนาคม พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นั่งประธานกมธ.การปกครองท้องถิ่น, พล.ต.อ.ชัชวาล สุขสมจิตร์ ส.ว.สรรหา อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็น ประธานกมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ
ขณะที่ส.ว.สายพลเรือน อาทิ วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ส.ว.สรรหา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นั่งประธานกมธ.การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.สรรหา อดีตประธานปฏิรูปด้านการเมือง นั่ง ประธานกมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.สรรหา อดีตเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก นั่งประธานกมธ.พัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส กล้านรงค์ จันทิก ส.ว.สรรหา อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นั่งประธานกมธ.กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อภิรดี จันตราภรณ์ ส.ว.สรรหา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั่ง ประธานกมธ.การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม
สำหรับสัดส่วนกมธ.แต่ละคณะ ที่ให้สิทธิ ส.ว.เลือกลงได้โดยสมัครใจและความสนใจ ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องมีความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านนั้นๆ มาก่อน
ให้เห็นภาพของสัดส่วน ส.ว.ในกมธ.บางคณะ มีอดีตนายพลมากกว่าสายพลเรือน เช่น “กมธ.ท่องเที่ยว” ที่มี “ส.ว.สายนายพล” ซึ่งไม่เคยผ่านงานด้านการท่องเที่ยว 13 คนจาก กมธ.ที่มีทั้งหมด 19 คน หรือ กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีส.ว.สายนายพล นั่ง 14 คน ขณะที่ กมธ.พลังงาน ที่มี ส.ว.อดีตนายทหาร เป็นกมธ. 10 คน เป็นต้น
เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่และอำนาจของ กมธ. ตามระเบียบกำหนดไว้ มีสาระสำคัญ คือ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กิจการ สอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องที่อยู่ภายใต้กรอบการทำงาน และงานเฉพาะด้าน คือ พิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
ดังนั้นการทำงานภายใต้ กมธ.วุฒิสภา หากจะนำไปเทียบกับ กมธ.ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีบทบาทชัดเจน โดยเฉพาะการยืนขั้วตรงข้ามกับรัฐบาล เพื่อตรวจสอบการทำงาน และหาช่องโหว่เพื่อพลิกคะแนนนำตอนเลือกตั้งรอบใหม่ จึงไม่สามารถเทียบเคียงกันได้
อย่างไรก็ดี ในหน้าที่ของ กมธ.วุฒิสภา ที่ผ่านมา ที่เห็นชัดเจนช่วงไม่มีสมัยประชุม คือการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน ติดตามงานปฏิรูป ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เสมือนเป็นงานรูทีนที่ต้องทำตามบทบาท
และบทบาทที่สะท้อนนั้น จึงไม่ใช่ภาพของการ ชี้แนะ กำกับ หรือตรวจสอบรัฐบาล แม้กระทั่งนำเสนอคำแนะนำไปยังรัฐบาล เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการบริหารราชการแผ่นดิน
ถือเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะ “วุฒิสมาชิก” ที่มีดีกรีเป็นผู้อาวุโส หรือ เป็นถึงอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงต่างๆ แต่กลับไม่ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่มีวิสัยทัศน์ เพื่อสะท้อนให้รัฐบาลได้นำไปปฏิบัติ ทำให้การดำรงตำแหน่ง ส.ว. ระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีประชาชนไม่สามารถคาดหวังใดๆ ได้
โดย ส.ว.รุ่นนี้ อาจพูดได้ว่า มีภาพจำที่เด่นชัดเรื่องเดียว คือ การยกมือสนับสนุนให้ “บิ๊กตู่”ได้ครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง และอาจจะเป็นอีกสมัยหลังจากนั่งครบ 4 ปีต่อจากนี้ ก็เท่านั้น!