เปิดสมัยประชุม 'รัฐบาล-ฝ่ายค้าน' แลกหมัดเดือด
วันที่ 22 พ.ค. ได้ฤกษ์ ที่การเมืองจะคืนสู่สนามสุริยันและจันทรา ตามที่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมรัฐสภา
โดยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีขึ้นวันที่ 27พ.ค.และยาวไปถึงวันสิ้นสัปดาห์ เพราะมีวาระสำคัญที่เข้าสู่การประชุม คือพระราชกำหนด3 ฉบับ
สถานการณ์เวลานี้ถือเป็นจังหวะที่“พรรคฝ่ายค้าน”จะได้โชว์ของในสภาฯ หลังจากที่ใช้การอภิปรายและแถลงข่าวรายวันนอกสภาฯ เพื่อชี้ให้เห็นถึงการบริหารจัดการและแก้ปัญหาการระบาดไวรัสโควิด-19และผลกระทบที่เกิดจากมาตรการของรัฐเพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อ ที่ล้มเหลว และสร้างความเสียหายต่อธุรกิจและเศรษฐกิจวงกว้าง
ดังนั้นเพื่อความได้เปรียบทางการเมืองต่อการแสดงบทบาทฝ่ายค้าน“กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน”จึงมีข้อเสนอให้ปรับวันอภิปรายพ.ร.ก.จากเดิมที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)กำหนดไว้ 3 วัน ส่วนจะขอเกิน 3 วัน ไปกี่วันนั้น วันที่ 22 พ.ค. ที่วิปทั้ง 2 ฝ่ายจะหารือ โดยมี “ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร”เป็นคนกลาง น่าจะได้คำตอบ
แต่ประเด็นนี้ ในมุมมองของ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลให้ความเห็นเบื้องต้นว่า ที่กำหนด 3 วันแต่เดิม ไม่ใช่จะให้จบภายใน 3 วัน แต่หากจะไม่จบต้องมีเหตุผล ทั้ง จำนวนผู้อภิปราย ผู้ชี้แจง พร้อมย้ำว่า การอภิปราย 3 พ.ร.ก.กู้เงินนั้น จะไม่ใช่การเปิดเวทีเพื่อให้ฝ่ายค้านซักฟอก“รัฐบาล”
หากการเจรจาทั้ง 2 ฝั่ง ถึงขั้นต้องต่อรองกันจริงๆ เพราะ ฝ่ายค้าน ต้องการเวลาจำนวนมาก ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเอง ต้องการให้จบเวทีในสภาฯ โดยไว เพราะหากให้ฝ่ายค้านยื้อไว้นาน ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อรัฐบาล ที่อาจโดนขุดคุ้ย และ กลายเป็นฝั่งผู้เสียเปรียบทางการเมืองได้
อีกวาระหนึ่งที่น่าจะเดือดไม่แพ้กัน คือ “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งวางคิวเอาไว้เป็นวันที่ 29 พ.ค. แต่มีแนวโน้มว่าอาจจะยังไม่พิจารณาในวันนั้น เพราะสภาฯน่าจะติดพันกับพ.ร.ก.อยู่นานพอสมควร แต่รัฐบาลก็เตรียมแก้ทางฝ่ายค้านเช่นกัน โดยจะเสนอให้สภาฯพิจารณากฎหมายโอนงบประมาณแบบสามวาระรวดให้จบภายในวันเดียว เพราะงบประมาณนี้ตามร่างกฎหมายนี้จะทำให้รัฐบาลได้เงินเร็วกว่าพ.ร.ก.ที่ต้องผ่านกระบวนการทำสัญญากู้เงิน
จากนี้ไปการเมืองไทยจะกลับเข้ามาอยู่ในสภาอีกรอบ ซึ่งครั้งนี้อาจเป็นการตัดสินว่าปัญหาของประเทศจะหาทางออกในสภาได้หรือไม่ หรือต้องลงถนนกันอีกครั้ง