'เทพไท' ยก 3 ข้อทวงสิทธิ 'เยียวยาเกษตรกร' ให้ ขรก.บำนาญ
"เทพไท" ยก 3 เหตุผลทวงสิทธิเยียวยาเกษตรกรให้ ขรก.บำนาญกว่า 8 หมื่นราย ชี้ควรได้รับสิทธิก่อน ขรก.ประจำที่ทำเกษตรเป็นงานอดิเรกมากกว่า ร้อง ครม.ขอให้ทบทวนด้วย
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 63 นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการการเยียวยาเกษตรกร 10 ล้านราย ภายใต้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ว่า จากการติดตามข้อมูลผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ได้มีมติให้ข้าราชการประจำที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เป็นอาชีพที่2 จำนวน 91,426 ราย ได้รับการเยียวยาจากโครงการเยียวยาเกษตรกรของรัฐบาล ส่วนข้าราชการบำนาญที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรจำนวน 84,471 ราย กลับถูกตัดสิทธิ์ ไม่ได้รับการเยียวยา แต่สามารถไปยื่นอุทธรณ์ได้
จากกรณีดังกล่าวนี้ ตนได้รับการร้องเรียนจากข้าราชการบำนาญที่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรด้วยว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโครงการเยียวยาเกษตรกรของรัฐบาล ตนจึงขอทำหน้าที่เป็นตัวแทน ในการเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีได้ทบทวนมติ เพื่อเห็นชอบให้ข้าราชการบำนาญที่เป็นเกษตรกร มีสิทธิ์เช่นเดียวกับข้าราชการประจำที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติช่วยเหลือเยียวยา ตามมติ ครม.วันที่ 28 เมษายน 2563 ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น ข้าราชการบำนาญที่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ควรจะมีสิทธิ์ได้รับการเยียวยาจากโครงการการเยียวยาเกษตรกรของรัฐบาลมากกว่า ข้าราชการประจำที่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรด้วยซ้ำไป เพราะมีเหตุผลดังนี้
1.ข้าราชการบำนาญ ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรได้เต็มเวลา ส่วนข้าราชการประจำใช้เวลาทำเกษตรกรรมเป็นงานอดิเรกหรืออาชีพเสริมเท่านั้น
2.ข้าราชการบำนาญ ได้รับเงินเดือนบำนาญน้อยไม่พอเลี้ยงชีพ ถ้าหากไม่ทำอาชีพเป็นเกษตรกรด้วย ส่วนข้าราชการประจำ ได้รับเงินเดือนประจำแล้ว ยังมีเงินประจำตำแหน่ง ค่ารับรอง และสวัสดิการอื่นๆอีกมากมาย
3.ข้าราชการบำนาญ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยชรา ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้มากนัก ส่วนข้าราชการประจำ ยังอยู่ในวัยสามารถทำงานและช่วยเหลือตัวเองได้เต็มที่
จึงขอเรียกร้องมายังรัฐบาลได้ทบทวนมติ และรับพิจารณาการยื่นอุทธรณ์ของข้าราชการบำนาญที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร ให้ได้รับสิทธิ์การเยียวยาจากโครงการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกร เช่นเดียวกับกลุ่มข้าราชการประจำที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรด้วย