จับสัญญาณ 'คนแดนไกล' รีโนเวท-ปั้น 'ไทยรักไทย 2020'
ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ข่าวคราวการตั้งพรรคของ อดีตขุนพล คนใกล้ชิดอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่ข่าวปล่อย หรือข่าวโคมลอยแต่อย่างใด
จากสัญญาณความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเหล่านั้น ที่ว่ากันว่า มีการไปหารือกันที่ตึกสูงแห่งหนึ่ง บวกกับท่าทีของบุคคลที่มีชื่อปรากฏอยู่ในข่าว อาทิ “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ยอมรับว่า มีการพูดคุยเรื่องดังกล่าวจริง
ก็ยิ่งทำให้เห็นเค้าลางพรรคการเมือง “ค่ายทักษิณ” เข้ามาทุกที แม้จะได้รับการเปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการพูดคุย แต่หากดูจากรายชื่อที่ออกมา
นอกจากเสี่ยอ้วนแล้ว ยังมี “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ที่ล้วนเป็นอดีตขุนพลพรรคไทยรักไทยทั้งสิ้น
จึงน่าสนใจว่า พรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นอาจมีการ “ฟื้นโมเดลไทยรักไทย” กลับมาใช้อีกครั้ง ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งตั้ง “พรรคไทยรักษาชาติ” หรือ ทษช. ที่นายใหญ่วางเกมให้เป็น “ไทยรักไทยยุค 2018” และเป็นพรรคแกนนำหลักแทนที่พรรคเพื่อไทย
แต่ดัน “เดินเกมพลาด” จนเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง และถูกยุบพรรคไปเสียก่อน
หลังเหตุการณ์ ทษช. ยังคงมีความพยายามจากคนใกล้ชิดคนแดนไกล ที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ หากมองย้อนไปถึงบทบาทของทั้ง 4 คน จะพบว่า “หมอเลี้ยบ” เคยเป็น รมช.สาธารณสุข ในยุครัฐบาลทักษิณ ก่อนถูกปรับเป็น รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในยุคเดียวกัน รวมทั้งเคยเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ มหาวิทยาลัยชินวัตร
ส่วน “หมอมิ้ง” เข้าสู่การเมืองโดยการชักชวนของพรรคพวกเครือข่ายคนเดือนตุลา ที่ไปช่วยงานอดีตนายกฯทักษิณ
เริ่มต้นที่การช่วยงานด้านกลยุทธ์ และได้เข้าร่วมทำงานกับกลุ่มบริษัทชินวัตร จนตำแหน่งสุดท้าย คือซีอีโอ บริษัท ชินแซทเทิลไลท์ คอมมิวนิเคชันส์
นอกจากนี้ เขาผู้นี้ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแคมเปญสำคัญ ที่ “ทักษิณ” เลือกใช้ เพื่อเป็นแคมเปญในการรณรงค์ทางการเมืองอีกด้วย
ส่วน “เสี่ยอ้วน” เติบโตมาตั้งแต่สร้างพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2539 กระทั่งยุคที่ไทยรักไทยรุ่งเรือง และยังมีบทบาทมาจนถึงปัจจุบัน
ยิ่ง “เฮียเพ้ง” ด้วยแล้ว ถือเป็นนักการเมืองที่มีความสนิทสนมกับทักษิณ เริ่มต้นจากการที่อาสาเข้าไปเป็น“นายหน้า” ในการเจรจาซื้อขายสนามกอล์ฟ อัลไพน์ และยังรับตำแหน่งสำคัญ ทั้ง รมว.พาณิชย์ รมว.อุตสาหกรรม และ รมว.คมนาคม ในยุครัฐบาลทักษิณ
และหากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เขายังเคยปรากฏชื่อ พร้อมมีเสียงเรียกร้องจากคนในพรรค ให้ขึ้นแท่น “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ในยุคที่ “เสี่ยอ้วน” เป็นรักษาการเลขาธิการพรรคอีกด้วย
ก่อนที่ต่อมา เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2562 เขาจะกล่าวในงานจัดเลี้ยงวันเกิดครบรอบ 69 ปี ต่อหน้า ส.ส.เพื่อไทย ในทำนอง ขอยุติบทบาททางการเมือง เพราะอยากหยุดพักผ่อน
ดังนั้น การที่ชื่อของ “เฮียเพ้ง” กลับมาปรากฏตามหน้าสื่ออีกครั้ง จึงถือเป็นจังหวะก้าวย่างสำคัญที่ต้องจับตา โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่เพื่อไทย “บอบช้ำ” จากศึกภายในและภายนอก จนยากเกินเยียวยาด้วยแล้ว
การดึง “อดีตขุนพล” พร้อมนำโมเดลไทยรักไทยมา “รีโนเวท” ใหม่ เพื่อปั้นให้เป็น “ไทยรักไทยยุค2020” จึงอาจเป็นแนวทางที่ “นายใหญ่” นำมาใช้ก็เป็นได้
ยิ่งในภาวะที่คนส่วนใหญ่ ยังจำผลงานของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นรัฐบาลแรก ที่อยู่จนครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรถึง 4 ปีด้วยแล้ว คนที่มีอำนาจในมือตอนนี้ ก็ย่อมหนาวๆ ร้อนๆ เช่นกัน