เปิดดีล พรรค-รัฐบาล 'แลกโควตา' สงบศึก พปชร.
ศึกแย่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระหว่าง “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง กับ “อนุชา นาคาศัย” ส.ส.ชัยนาท รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เกือบจะลงตัวที่ชื่อ “สันติ”
เมื่อมีกระแสข่าวว่า “กลุ่มสามมิตร” สั่ง “อนุชา” ยอมถอย หลังจากเงื่อนไขลงตัว ไฟเขียวให้ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม สลับไปดำรงตำแหน่ง รมว.พลังงาน แทน “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงาน รักษาการเลขาธิการพรรค พปชร. ซึ่งเก้าอี้รมว.พลังงาน เป็นที่หมายปองของ “สุริยะ” มาตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาลบิ๊กตู่ 2/1 แต่ก็ต้องพลาดหวังเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เลือกใช้บริการของ “สนธิรัตน์”
ฉะนั้นเมื่อโอกาสในการปรับ ครม. มาถึง บวกกับการยกเครื่องพรรค พปชร.ใหม่ “สุริยะ” จึงไม่พลาดที่จะต่อรองขอเก้าอี้ รมว.พลังงาน โดยมีเงื่อนไขทางการเมืองภายในพรรค พปชร.ไปแลกเปลี่ยน
อีกทั้งหาก “อนุชา” จะหลบฉากให้ “สันติ” ขึ้นนั่งแม่บ้าน พปชร. “กลุ่มสามมิตร” ก็ไม่ได้เสียหายหรือแรงต่อรองจะน้อยลง
“สุริยะ-อนุชา” ตอบตกลงข้อเสนอจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพปชร. ซึ่ง “สันติ” ก็พอใจข้อเสนอดังกล่าว แม้จะอยู่ในตำแหน่ง “รมช.คลัง” เหมือนเดิม เพียงแค่ขอให้กระจายงานมาให้คุมก็ถือว่าวินวิน
เพราะเป้าหมายของ “สันติ” อยู่ที่ตำแหน่งเลขาธิการพรรค พปชร. ต้องการเสริมบารมีภายในพรรคเข้มแข็ง หวังโชว์ผลงานคอนโทรล ส.ส. ที่กระจัดกระจายแตกเป็น กลุ่ม-ก๊ก-ก๊วน ให้รวมตัว รวมพลังกันให้ได้มากที่สุด เพื่อลบความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีต
ทว่า ข้อเสนอที่ตอบตกลงกัน ต้องจำต้องพับเก็บไปทั้งหมด เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ไฟเขียวให้ “สุริยะ” นั่งเก้าอี้ รมว.พลังงาน
ไม่เฉพาะประเด็นถูกจับตาถึงขุมทรัพย์ในกระทรวงเท่านั้น แต่กางไทม์ไลน์แล้ว ยังมีอีกหลายภารกิจที่จะต้องดำเนินการ โดยนายกฯ คาดหวังให้ปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองให้มากที่สุด
ว่ากันว่า “หัวแถวด้านพลังงาน” ยังไว้ใจการบริหารงานของ “สนธิรัตน์” และพยายามผลักดันให้ “สนธิรัตน์” ได้นั่งเก้าอี้ รมว.พลังงาน เหมือนเดิม ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อสายตรงถึง พล.อ.ประวิตร ล้มดีลให้ “สันติ” นั่งเลขาธิการ พปชร. ยกเลิกข้อตกลงให้ “สุริยะ” นั่งเก้าอี้ รมว.พลังงาน
จับอาการ “สนธิรัตน์” แม้จะไม่ตัดสัมพันธ์กับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ที่พึ่งทางใจของ “กลุ่ม 4 กุมาร” แต่มีหลายครั้งที่สนธิรัตน์ต้องออกแรง-ออกปัจจัยยังชีพ เพื่อดีลกับ ส.ส. ด้วยตัวเอง เพราะรู้ดีว่าจุดอ่อนของ “กลุ่ม 4 กุมาร” คือระยะห่างกับ ส.ส.
สนธิรัตน์มี ส.ส.ในสังกัดอยู่กลุ่มหนึ่ง แยกเป็น 6 ส.ส.รุ่นใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส.ส.เขตภาคกลาง ซึ่งพอค้ำยันให้ “สนธิรัตน์” ยังมีตำแหน่งใน ครม.ประยุทธ์ 2/2 ได้ ส่วน “กลุ่ม 4 กุมาร” คนอื่น อาจจะต้องพ้นจากเก้าอี้ ครม.ทั้งหมด
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ยังยึดโควตา รมว.พลังงานเอาไว้ จึงยากที่จะมีใครมาต่อรอง “สุริยะ” รู้ตัวดีว่า ยากที่จะไปงัดข้อกับนายกฯ จึงต้องยอมหลบฉากออกมาก่อน โดยส่ง “น้องแฮงค์” ไปสร้างผลงานในตำแหน่งเลขาธิการพรรค พปชร. เพื่อต่อยอดในการปรับทัพ ครม.ในรอบหน้า
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวของ “5 ส.ส.ปชป.” ที่เข้าพบ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีส่วนในการปรับลดโควตารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) หาก “พีระพันธุ์-5 ส.ส.ปชป.” เดินเกมเพิ่มยอด ส.ส.ปชป. ที่ไม่สนับสนุน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคปชป.
เป้าหมายหลักของ พล.อ.ประยุทธ์ อยากให้ “จุรินทร์-ปชป.” ช่วยขับเคลื่อนข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ผ่านกลไกของกระทรวงพาณิชย์ เพราะในระดับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาระบุว่า ได้เจรจาและหารือกับหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมยืนยันว่ประเทศไทย จะไม่เสียผลประโยชน์จาก CPTPP
ซึ่งที่ผ่านมา “จุรินทร์” มักตีตกข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับ CPTPP ทันที โดยไม่ได้พิจารณาข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงมีกระแสข่าวว่าจุรินทร์ไม่ได้เน้นงานที่เกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์คาดหวังเอาไว้ โดยจะเน้นงานที่เกี่ยวกับการขายสินค้ามากกว่า จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ค่อยพอใจกับบทบาทของจุรินทร์
จึงส่งสัญญาณให้จุรินทร์เดินหน้างานกระทรวงพาณิชย์ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องดึงโควตากระทรวงพาณิชย์กลับมาอยู่ในความดูแล ฉะนั้นจึงต้องจับตาท่าทีของจุรินทร์ ว่า หลังจากนี้จะเดินหน้า CPTPP อย่างไร
ตลอดการทำงานในฐานะผู้นำรัฐบาล ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียนรู้จุดแข็ง-จุดอ่อน ของนักการเมือง แทบทะลุปรุโปร่ง ฉะนั้นการปรับ ครม.เที่ยวนี้ จึงมีความหวังว่า นายกฯ จะรื้อโครงสร้าง ครม.ให้ตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศ มากกว่าการตอบโจทย์(นัก)การเมือง