มีเฮ! หยุดยาว 4 วันรวด 4-7 ก.ค. โควต้า 'วันหยุดชดเชยสงกรานต์' ยังคงอยู่
"อิทธิพล" เผยหยุดชดเชยอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา 4 วันรวด โดยไม่ได้ใช้โควต้า "วันหยุดชดเชยสงกรานต์" พร้อมระบุ นายกฯ สั่งยึดแนวทางการทำงานแบบประชาชนมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 63 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศวันหยุดชดเชยซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาตรงกับวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ให้หยุดชดเชย 2 วัน เป็นวันจันทร์ที่ 6 และ 7 ก.ค. โดยจะเลื่อนวันประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นวันที่ 8 ก.ค. พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ใช้โควตาวันหยุดสงกรานต์ ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีจะประเมินให้ใช้ในเดือนถัดๆ ไป โดยต้องประเมินสถานการณ์โควิด-19 ประกอบ
ขณะเดียวกันก็มีการวางแผนระบบกระตุ้นเศรษฐกิจรวมไปถึงพิจารณาโครงการฟื้นฟูต่างๆ ที่ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองมาแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีให้แนวทางว่าให้พิจารณาโครงการที่ต้องใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เป็นปัจจัยหนุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยยึดปัจจัยภายในประเทศอย่างการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- สรุปรวม! วันหยุด 2563 ครึ่งหลังของปี เหลือกี่วัน มีอะไรบ้าง?
- อัพเดทวันหยุดเดือน ‘กรกฎาคม’ 2563 ได้หยุดวันไหนบ้าง?
- 'ดอยหลวงเชียงดาว' อาจขึ้นแท่นเป็นพื้นที่ชีวมณฑลจาก 'ยูเนสโก้'
ส่วนสถาบันทางการเงินวันหยุดชดเชยจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่หยุดไม่เกิน 3 วัน ส่วนสาธารณสุขจะมีข้อเสนอแนะหรือเตรียมการรับมือวันหยุดยาวหรือไม่ นายอิทธิพล ระบุว่า ต้องหารือรายละเอียดในที่ประชุม ศบค. อีกครั้ง ทั้งนี้ เป็นเพียงการแจ้งปฏิทินการประชุม ครม.เท่านั้น
ส่วน วันหยุดชดเชยสงกรานต์ 3 วัน จะนำไปพ่วงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์อื่นหรือไม่ นายอิทธิพล ยอมรับว่า ใช่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเดินทางและการหมุนเวียนการกระจายรายได้
ทั้งนี้ นายอิทธิพล ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในที่ประชุม ครม. ว่านายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ทุกกระทรวงรายงานผลการปฏิบัติงานที่เป็นผลสัมฤทธิ์ในรูปแบบตัวเลข ซึ่งในเรื่องเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังรายงานผลการเยียวยาประชาชนและมอบหมายให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมรายงานผลโครงการฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเฟสแรกและนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหลังช่วงหยุดยาว
และหลังจากนี้ทุกกระทรวงจะมีการรายงานผลการปฏิบัติงานเพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบและทำความเข้าใจกับประชาชนในรูปแบบของวิถีชีวิตปกติแบบใหม่หรือ New Normal พร้อมกับให้ยึดแนวทางการทำงานแบบประชาชนมีส่วนร่วมใช้ในแนวทางปฏิบัติทางราชการโดยเข้าสู่ปีที่2 ของคณะรัฐมนตรี