คุมเข้ม 10 จังหวัดเสี่ยง เคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง
ผบ.ตร. สั่งคุมเข้ม 10 จังหวัดเสี่ยง เคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ขณะ ตำรวจตระเวนชายแดน-ทหาร ยึดอาวุธสงคราม-ระเบิด คุมตัว 2 ชายไทย สอบสวน
วันที่ 23 มิถุนายน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. เปิดเผยถึงกรณีที่จะมีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันครบรอบ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 นั้น ว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร.(มค) , พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ลงไปกำกับดูแลความสงบเรียบร้อย และเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวเเล้ว
โดยได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ ทั้งในเครื่องเเบบ และนอกเครื่องแบบ ออกปฏิบัติหน้าที่ สืบสวนหาข่าว ตั้งจุดตรวจจุดสกัดตรวจค้นอาวุธ หรือสิ่งของผิดกฎหมาย เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในบริเวณพื้นที่จัดกิจกรรมดังกล่าว
อีกทั้งได้รับรายงานว่า ตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 346 ร่วมกับ ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 ยึดอาวุธปืนสงคราม เอ็ม 16 , เอ็ม 79 , อาร์ก้า, ปืนกล ขนาด.62 และ ปืนเล็กยาว รวม 33 กระบอก และวัตถุระเบิดอีกจำนวนหนึ่ง ได้ที่บ้านหลังหนึ่งในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมควบคุมตัวชายไทย 2 คน ไว้สอบสวนขยายผล
ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่า ถูกตระเตรียมการไว้ใช้ในการเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ทางการเมือง เนื่องจาก สอดคล้องกับข้อมูลทางการข่าวของฝ่ายความมั่นคง ที่รายงานการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่เตรียมฉวยโอกาสสร้างความวุ่นวายทางการเมือง แต่ไม่ยืนยันว่า กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายใด โดยอยู่ระหว่างการสอบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่
เรื่องนี้ทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้กำชับให้ตำรวจทุกพื้นที่ โดยเฉพาะ 10 จังหวัดเสี่ยง อาทิ ขอนแก่น แพร่ นครราชสีมา อยุธยา เชียงใหม่ เฝ้าระวังการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ในวันที่ 24 มิถุนายน
เนื่องจาก อาจจะมีการนัดชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ในวันดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและมีความเป็นห่วงเยาวชน นักศึกษา อาจถูกชักจูงด้วยข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา พบว่าแกนนำหรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง อาจจะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งหากพบการกระทำผิดที่ชัดเจน ก็มีการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายต่อไป
รอง โฆษก ตร. กล่าวต่ออีกว่า ขอฝากประชาสัมพันธ์กลุ่มคนที่จัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นสิทธิที่สามารถทำได้หากกระทำภายใต้กรอบกฎหมาย โดยขอให้คำนึงถึงในภาพรวมอย่าไปริดรอน หรือกระทบสิทธิของผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืน ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง หรือสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน
อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการรวมตัว หรือชุมนุมทำกิจกรรมใดๆ เพื่อเป็นการลดโอกาสในการเเพร่เชื้อโรค อีกทั้งการทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดตามประกาศของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง การห้ามชุมนุมการทำกิจกรรม การมั่วสุม ลงวันที่ 3 เม.ย.63 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่กิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้หากประชาชน พบเห็นสิ่งผิดปกติ เหตุด่วน เหตุร้าย สามารถแจ้งได้ที่หมายเลขสายด่วน 191 และ 1599 ตลอด 24 ชม.