ทำไม ก้าวไกล-ปชป. หลีกทาง! 'สิระ' ส.ส.สมัยแรก ขึ้นประธานกมธ.คณะใหญ่

ทำไม ก้าวไกล-ปชป. หลีกทาง! 'สิระ' ส.ส.สมัยแรก ขึ้นประธานกมธ.คณะใหญ่

เป็นประเด็นที่น่าจับตาไม่น้อย สำหรับการขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ของ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ

คณะกรรมาธิการฯชุดนี้ ถือเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการคณะใหญ่ เพราะมีอำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯกว้างขวาง โดยเฉพาะการมีอำนาจตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ยกเว้นกระบวนการของศาล อีกทั้งยังเป็นคณะกรรมาธิการฯที่จะเป็นหน้าเป็นตาของสภาฯที่จะเป็นตัวแทนรัฐสภาไทยในการเข้าร่วมเวทีนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

เดิมที ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ตามโควตาสัดส่วน ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ อุดมไปด้วยผู้อาวุโสทางการเมืองแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะสองอดีตรมว.ยุติธรรมทั้ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ‘สุทัศน์ เงินหมื่น’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่ ‘สิระ’ ที่พรรษาทางการเมืองยังน้อย แต่ก็พร้อมที่จะชนกับฝ่ายตรงข้ามทุกรูปแบบ

คณะกรรมาธิการฯ ภายใต้การนำของ ‘ปิยบุตร’ ได้รับเอาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้ามาพิจารณาเป็นจำนวนมาก และเน้นในส่วนเกี่ยวกับนักกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเป็นพิเศษ จนทำให้ครั้งหนึ่ง ‘สิระ’ เคยออกอาการไม่พอใจปิยบุตรกลางที่ประชุมมาแล้ว ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะเคลียร์กันเพื่อไม่ให้หมางใจกันในระยะยาว

แต่การทำงานในตำแหน่งประธานของปิยบุตร ดำเนินไปได้สักระยะ ก็มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ‘ปิยบุตร’ ในฐานะเลขาธิการพรรคต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.และประธานคณะกรรมาธิการฯทันที ทำให้ช่วงหนึ่ง ‘สุทัศน์’ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 1 ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการชั่วคราว เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของคณะกรรมาธิการฯให้เดินได้ไปได้

การชิงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นไปอย่างดุเดือด เพราะพรรคพลังประชารัฐต้องการตำแหน่งประธานชัดเจน เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้กับรัฐบาล แต่ติดที่ว่า เป็นโควตาเดิมของพรรคก้าวไกล ซึ่งที่ประชุมร่วมกันของตัวแทนพรรคการเมืองร่วมกับ ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานสภาฯ มีความเห็นชัดเจนแล้วว่า พรรคก้าวไกลยังมีสิทธิในตำแหน่งนี้ เพียงแต่ต้องไปสละเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการคณะอื่นหนึ่งตำแหน่ง เพื่อให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลได้สิทธิเก้าอี้ประธานกรรมาธิการกฎหมายฯตามเดิม

แต่สถานการณ์เหมือนเป็นใจให้กับพรรคพลังประชารัฐ เพราะประธานคณะกรรมาธิการอื่นๆ ของพรรคก้าวไกลไม่มีใครลาออก เพื่อรักษาเก้าอี้เดิมของปิยบุตร ทำให้โควตานี้กลับมาอยู่ที่ส่วนกลางเพื่อเขย่ากันใหม่

แม้พรรคก้าวไกลจะทิ้งเก้าอี้ตัวนี้ไปแล้ว แต่ด้านหนึ่งสนับสนุนให้ ‘สุทัศน์’ ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ตัวจริง เพราะในระหว่างที่สุทัศน์ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการชั่วคราวนั้น ยังมีนโยบายให้พิจารณาเรื่องการละเมิดสิทธิของนักกิจกรรมตามเดิม แต่หากพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาคุมคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้เต็มตัว เรื่องการละเมิดสิทธิที่ปิยบุตร เคยทำเอาไว้จะไม่ได้รับการสานต่อ

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้สนับสนุนให้สุทัศน์ได้รับตำแหน่งนี้ เพราะหากทำเช่นนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะต้องสละตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฯ หนึ่งตำแหน่งเช่นกัน ซึ่งประธานกรรมาธิการฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ทำให้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฯตกมาเป็นของพรรคพลังประชารัฐโดยปริยาย

สิระ เจนจาคะได้รับแรงสนับสนุนจากคนในพรรคเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ เพราะไม่มีใครสามารถรับแรงปะทะจากฝ่ายค้านได้ดีเท่ากับส.ส.กทม.รายนี้ 

ที่สำคัญ ‘สิระ’ แม้จะเพิ่งได้เป็นส.ส.สมัยแรก แต่ก็ได้มีโอกาสทำงานใหญ่ในสภามาพอสมควร เช่น กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

การเติบโตในสภาอย่างก้าวกระโดดของ สิระไม่ได้เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มเขี้ยวเล็บให้กับตัวเองเท่านั้น แต่ยังจะมีส่วนให้รัฐบาลและหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงไม่ต้องเข้าออกคณะกรรมาธิการชุดนี้หลายครั้งเหมือนที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นการตัดกำลังฝ่ายค้านไปในตัว

มาถึงจุดนี้ต้องรอดูฝ่ายค้านจะแก้เกมรัฐบาลในสภาอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจอย่างนี้