'สมาชิกพรรค' สำคัญไฉน?
ส่องความสำคัญของสมาชิกพรรค ผ่าน 6 บทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมและรักษาความเป็นสถาบันของพรรคให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน กำหนดให้พรรคต้องจัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกพรรคได้เข้ามีส่วนร่วม เช่น การเลือก คกก.บริหาร การเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งระบบเขต-บัญชีรายชื่อ ถือเป็นพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรกที่กำหนดให้พรรคต้องเปิดพื้นที่อย่างเป็นทางการให้สมาชิกพรรคซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของพรรคเข้ามีมีบทบาทมากขึ้น
ดังนั้น 27 มิ.ย.นี้ พปชร.จะมีการประชุม และจะต้องมีสมาชิกพรรคเข้าร่วมอย่างน้อย 250 คน ที่น่าสนใจว่า สมาชิกพรรคจะให้ความสำคัญเข้าร่วมกำหนดทิศทางภายในพรรคมากน้อยแค่ไหน เพราะเขาไม่ได้จำกัดจำนวน จะมาเท่าไรก็ได้ และน่าสนใจว่าที่มากันนั้นเป็นระบบเกณฑ์มาหรือมาเอง ชอบ ไม่ชอบอะไรยังไง ควรเข้าไปประชุมกำหนดแนวทางพรรคตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้าไม่ใส่ใจตั้งแต่วันนี้ อาจมีวิกฤติในวันหน้า แล้วค่อยคิดลงถนน มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้มาก รังแต่จะนำไปสู่ทางตันทางการเมืองมากกว่า
นักวิชาการได้ศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของสมาชิกพรรค แล้วสรุปออกมาได้ความว่า สมาชิกพรรคที่เป็นคนส่วนใหญ่ (the many) นั้น มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการส่งเสริมและรักษาความเป็นสถาบันของพรรคให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลสำคัญ 6 ประการ
1.บทบาทในการคัดสรรผู้สมัครและผู้นำระดับต่างๆ ของพรรค นอกจากนี้การมีสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมากจะเป็นแหล่งที่มาหรือการระดมผู้คนจำนวนมากและหลากหลายให้สามารถเลือก คัดสรร แข่งขันกันเพื่อได้ผู้เหมาะสมที่สุดเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับ รวมทั้งดำรงตำแหน่งต่างๆ ภายในพรรค
2.การมีสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมากจะช่วยในเรื่องงบประมาณเงินทุนที่พรรคจะได้จากสมาชิกพรรค เป็นกำลังในการออกไปหา ระดมทุนเข้าพรรคด้วย อีกทั้งเงินค่าบำรุงพรรคก็ถือเป็นงบประมาณที่พรรคจะได้อย่างแน่นอน ยิ่งมีสมาชิกพรรคมากเท่าไร ยิ่งมีงบประมาณที่ได้ตายตัวมากขึ้นเท่านั้น
3.เป็นตัวแทนของพรรคภายในชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ หรือภายในองค์กรต่างๆ ที่เขาทำงานหรือร่วมกิจกรรมอยู่ การเป็นตัวแทนนี้ถือเป็นการทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับพรรค (the parties’eyes and ears) ในเรื่องราวทางการเมือง และถ้าพรรคขาดสมาชิกพรรคที่ทำหน้าที่นี้ ก็อาจทำให้พรรคขาดความชอบธรรมในชุมชนต่างๆ ได้
4.บทบาทในการสื่อสารทางการเมือง ทั้งรับและส่งสารกับชุมชนต่างๆ เช่น สื่อถึงแนวคิดของพรรคไปยังสาธารณะในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่เป็นทางการหรือไม่ก็ตาม ขณะเดียวกัน ในการดำเนินชีวิตประจำวัน สมาชิกพรรคย่อมมีการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ที่เขาปฏิสัมพันธ์ด้วย และสามารถที่จะสื่อสารถึงแนวนโยบายหรือกิจกรรมต่างๆ ของพรรค อันจะช่วยทำให้ผู้คนเข้าใจกิจกรรมการทำงานของพรรคได้โดยตรงจากสมาชิกพรรค ช่วยเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อพรรค
5.การมีสมาชิกพรรคที่มีจำนวนมากและมีความแข็งขัน จะสามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการ ข้อเรียกร้อง ปัญหาต่างๆในชุมชน อันจะส่งผลให้สมาชิกพรรคมีบทบาทในการนำเสนอและริเริ่มเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรค
6.ประการสุดท้าย แน่นอนว่า บทบาทในการช่วยหาเสียงเลือกตั้งและระดมหรือพยายามดึงให้ผู้คนมาลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครของพรรคของตน
นอกจาก 6 ประการนี้แล้ว จะขอเสริมย้ำว่า การเปิดพื้นที่และให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมและบทบาทของสมาชิกพรรค ยังจะช่วยลดการทุจริตและการรวมศูนย์อำนาจภายในพรรค ในแง่ของการลดการทุจริต ซึ่งในบางประเทศจะลดการซื้อเสียงไปได้ด้วย และเมื่อพรรคไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณการหาเสียงหรือซื้อเสียง ก็ทำให้พรรคไม่จำเป็นต้องหาเงินมาเป็นจำนวนมากเพื่อการนี้
ในแง่ของการลดการรวมศูนย์อำนาจภายในพรรค คือ หากพรรคไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก อำนาจและอิทธิพลของสมาชิกพรรคที่มีฐานะมั่งคั่งก็จะลดลง จะเปิดพื้นที่ให้กับสมาชิกที่มีคุณสมบัติความสามารถที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน
ประเด็นสำคัญ ผู้เขียนพบจากข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างยิ่งของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องพรรคการเมือง นักวิชาการตะวันตก ในบทบาทของสมาชิกพรรค อย่าง Ostrogorski เห็นว่า พรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมาก (mass-party organization) แม้ว่าจะมีข้อดีที่สมาชิกพรรคอาจจะเป็นตัวที่แก้ปัญหาข้อขัดแย้งในการประเมินตัดสินทางการเมืองที่แตกต่างกันในหมู่ผู้นำและ ส.ส. ของพรรคได้
และในมุมกลับ Ostrogorski ก็วิตกว่าผู้นำและ ส.ส. พรรคอาจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสมาชิกพรรคที่เป็นองค์กรนอกรัฐสภา (extra-parliamentary organisations) และสมาชิกพรรคเหล่านี้ไม่ได้ต้องมีความรับผิดชอบต่อแรงกดดันเท่ากับผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรคหรือ ส.ส.
ในขณะที่ Robert Michels ไม่เชื่อว่าจะเกิดสภาพเช่นนั้นกับพรรคการเมือง เพราะเขาเชื่อในทฤษฎี “กฎเหล็กแห่งประชาธิปไตย” ส่วน Seyd และ Whiteley เห็นว่า โดยทั่วไป สมาชิกพรรคและนักเคลื่อนไหวของพรรค(party members and activists) อาจเป็นได้ทั้ง “พวกสุดโต่ง” (extremists) หรือ “ทหารเดินเท้าที่รับคำสั่งอย่างเดียว” (unquestioning foot soldiers) ซึ่งสำหรับ Seyd - Whiteley สมาชิกพรรคการเมืองของอังกฤษเปรียบได้กับ “ซินเดอเรลลา” (Cinderellas)
จากความเห็นข้างต้น จะพบว่า ฝ่ายหนึ่งเกรงว่าสมาชิกพรรคอาจมีบทบาทมากเกินไปจนสร้างปัญหากับหัวหน้าพรรคและ ส.ส. ของพรรคที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและการเมืองภายใต้กรอบระบอบรัฐสภา ในขณะที่สมาชิกพรรคที่เป็นคนหมู่มากนั้นไม่ได้จะต้องรับผิดชอบต่อข้อเสนอของพวกตน และหากเกิดความผิดพลาด ก็ยากที่จะหาใครรับผิดชอบได้ท่ามกลางการลงมติของคนหมู่มาก ส่วนอีกฝ่ายก็ไม่วิตกว่าจะเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นตามหลัก “กฎเหล็กแห่งคณาธิปไตย”
และต่อมานักวิชาการกลุ่มหลังจึงเห็นว่า สมาชิกพรรคที่เป็นมวลชนมี 2 สภาพ นั่นคือ อาจเป็นมวลชนที่แข็งขันและสุดโต่ง หรือไม่ก็เป็นทหารเดินเท้าที่รับคำสั่งอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการกลุ่มหลังจึงขนานนามสมาชิกพรรคที่เป็นคนส่วนใหญ่ว่าเป็น “ซินเดอเรลลา(จำนวนมาก)” (Cinderrellas) ที่ในยามปกติก็จะพร้อมยอมตามหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค แต่หาก “เปลี่ยนองค์” ขึ้นเมื่อใดก็จะมีพลังโดดเด่นที่อาจอยู่เหนือหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรคได้
ของบ้านเรา ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคยังเป็น “นางซินฯแบบอยู่บ้าน” ไม่ค่อยจะหืออืออะไรตอนการเมืองปกติ แต่พอมีวิกฤต ประชาชนเหล่านั้นจะแปลงร่างเป็น “นางซินฯออกงาน” ที่จริงควรจะออกงานตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่รอไปลงถนนท่าเดียว!
88 ปี ประชาธิปไตยไทยพัฒนาไปแค่ไหน คงต้องดูหลายปัจจัย ถ้าดูเสถียรภาพของระบอบการเมือง ก็คงต้องตอบว่า ไม่ดี เพราะยังต้องมีรัฐประหารอยู่ แต่จะโทษที่คนทำรัฐประหารฝ่ายเดียวก็คงไม่ได้อีก เพราะสมัยนี้ต่างจากสมัยก่อน สมัยก่อนรัฐประหารเกิดขึ้นจากความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ-ทหารที่มีอำนาจทางการเมือง เมื่อเกิดความขัดแย้งก็เข็นรถถัง ประกาศวิทยุโทรทัศน์ ก็เป็นอันว่าเกิดรัฐประหาร ประชาชนไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วย กล่าวคร่าวๆ ได้ว่า รัฐประหารตั้งแต่หลัง พ.ศ.2475 จนถึงก่อน พ.ศ. 2549 เป็นรัฐประหารที่ไม่ได้มีมวลชนที่ขัดแย้งกันในวงกว้างเข้ามาเป็นปัจจัยให้เกิดรัฐประหาร
แต่ชัดเจนว่า รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 และรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เป็นรัฐประหารที่แตกต่างไปจากรัฐประหารก่อนหน้าทั้งหมด พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐประหารจะทำยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องมีปัจจัยที่รุนแรงและร้ายแรงต่อความมั่นคงจริงๆ ส่วนปัจจัยที่ว่านี้จะเกิดขึ้นเองจากการขยายตัวบานปลายของสถานการณ์ หรือเป็นสิ่งที่มีคนพยายามสร้างให้เกิดเพื่อจะได้มีรัฐประหารก็ไม่เป็นประเด็น เพราะสถานการณ์แบบนี้ ถ้าสร้าง มันจะเสี่ยงมากๆ เพราะหากควบคุมสถานการณ์ไม่ได้หรือผิดพลาด มันจะเลยเถิดจนไม่รู้ว่าจะลงเอยยังไง แต่เอาเป็นว่า แม้ถ้าเชื่อว่า สถานการณ์ที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ก็บอกได้เลยว่า มันจะสร้างยากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะผู้คนจะไม่ยอมรับการเกิดรัฐประหารได้ง่ายเหมือนที่ผ่านมา โอกาสจะเกิดการลุกฮือต่อต้านการทำรัฐประหารมีมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง เริ่มมีคนที่กล้าออกมาต่อต้านมากขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่า ถ้าเกิดรัฐประหารอีก คงจะมีคนออกมาต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน 88 ปีประชาธิปไตย มีพัฒนาการด้านการมีส่วนร่วมของมวลชนมากขึ้น อย่างน้อยวิกฤตการเมืองในปี 2549 และ 2556-2557 ก็เป็นบทพิสูจน์ว่า ในเชิงปริมาณ ประชาชนมีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้นกว่าก่อนหน้านั้น อันเป็นผลพวงจากพัฒนาการเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น การสื่อสารแบบ real-time ทำให้สามารถสื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารและสามารถปลุกระดมผู้คนให้เข้ามาชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการคมนาคมก็สะดวกมากขึ้น ในแง่นี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาธิปไตยมีพัฒนาการในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ข้อเสีย ก็รู้ๆ กันอยู่ นั่นคือ ผู้คนรับข้อมูลข่าวสารด้านเดียว เกิดความเกลียดชังกันและกัน และการชุมนุมที่ไม่มีขอบเขตจนทำให้เกิดการชะงักงันของธุรกิจต่างๆและรวมทั้งระบบราชการ
แต่การชุมชุมที่ไม่มีขอบเขตนี้ อาจจะลดน้อยลง เพราะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะเห็นได้ว่า การพยายามชุมนุมที่ผ่านมา ผู้ริเริ่มการชุมนุมค่อนข้างจะระมัดระวังตัว รวมทั้งผู้ที่มาชุมนุมด้วย แม้ว่าจะมีการใช้ “ศิลปะแบบรู้หลบเป็นปีก” กับ “เลี่ยงบาลี” แต่ยังไงก็ถือว่า พระราชบัญญัติฯตัวนี้ ยังทำงานได้ดีในระดับหนึ่ง แต่คงต้องคอยดูกันต่อไปว่า จะช่วยป้องกันไม่ให้การชุมนุมบานปลายจนเป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารได้ไหม
นอกจากประชาชนคนส่วนใหญ่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองบนท้องถนนแล้ว ควรจะมีส่วนร่วมในการเมืองแบบปกติกันให้มากๆ เสียก่อน ไม่ใช่จะลงถนนท่าเดียว การมีส่วนร่วมที่ว่านี้คือ มีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมและนโยบายของพรรคการเมืองที่ตนสนใจสนับสนุน เพราะถ้ากำหนดตรงนี้ได้ มันก็ไม่น่าจะไปเกิดเรื่องบนท้องถนน เพราะคงไม่มีประชาชนที่ไหนต้องการได้นักการเมืองโกงๆ มีประวัติแย่ๆ...หรือไม่แน่?
แต่ถ้าหากประชาชนต้องการนักการเมืองโกงๆ ก็คงหลีกเลี่ยงต้องลงถนนกันไม่ได้ เพราะเงื่อนไขของปัญหาการชุมนุมประท้วงมักจะเริ่มจากพฤติกรรมของนักการเมืองก่อน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะลงถนนขับไล่กันได้
ทีนี้ นอกจากเราจะมี พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะแล้ว เรายังมี พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องจัดประชุมให้สมาชิกพรรคเข้าไปกำหนดเรื่องราวต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกรรมการบริหารพรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ พรรคจะต้องเปิดให้สมาชิกพรรคเข้ามาประชุมอย่างน้อย 250 คนโดยมีอัตราส่วนจากตัวแทนสาขา ตัวแทนภาค และกึ่งหนึ่งของกรรมการบริหารพรรค ส่วนสมาชิกพรรคอื่นๆจะมากันกี่คนก็ได้ ไม่จำกัด
ดังนั้น ก่อนจะไปลงถนน ก็ควรจะไปกำหนดเรื่องราวของพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนเสียก่อน เพราะพรรคจะได้สะท้อนความต้องการของประชาชนได้ตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างเช่น 27 มิ.ย.นี้ จะมีประชุม พปชร.เพื่อเลือกคกก.บริหารพรรค สมาชิกพรรคก็ควรเข้าไปมีส่วนกำหนด ไม่ใช่ปล่อยให้แกนนำพรรคเขากำหนด อะไรที่ชอบไม่ชอบจะได้ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป ซึ่งผมก็สนใจอยากจะไปขอสังเกตการณ์ว่าตกลงแล้ว สมาชิก พปชร.ไปประชุมกันกี่คน เป็นคนกลุ่มไหน และมาจากการถูกเกณฑ์หรือเปล่า (เช่น ถามว่า มาทำไม ก็ตอบว่า ไม่รู้ เขาให้มาก็มา อะไรแบบนี้ !!??)
หรือพรรคก้าวไกล ก็น่าจะไปถามให้รู้ๆ ว่า ตกลงแล้ว การกู้เงินหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่(อนค.)มันไปยังไงมายังไง มีเหตุผลอะไร แล้วพอมาเป็นก้าวไกล ไม่ต้องกู้เงินหัวหน้าพรรคแล้ว เอาเงินที่ไหนใช้ แล้วสมมุติว่า ตอนเป็น อนค.ไม่กู้หัวหน้าพรรค จะส่งผลกระทบต่อการรณรงค์เลือกตั้งของพรรคมากน้อยแค่ไหน?
นอกจากนั้น จะว่าไปแล้ว เวลาเราจะพูดว่า แปดสิบปีประชาธิปไตยไทยมันพัฒนามากน้อยยังไง ก็ควรลงไปดูที่กฎหมายบางฉบับที่เขาออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่นำไปสู่การชุมนุมบานปลายและเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อจลาจลและสงครามกลางเมือง
อีกทั้งควรดูกฎหมายบางฉบับที่เขาบังคับให้พรรคต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคเข้ามากำหนดเรื่องราวในพรรค ซึ่งเป็นการให้สมาชิกพรรคได้เข้ามาตรวจสอบเรื่องราวของพรรคด้วย เช่น อาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมถึงสนับสนุนนักการเมืองคนนั้นคนนี้ ถาม-ตอบกันให้จะจะไปเลย ไม่ดีก็ลาออกไปเป็นสมาชิกพรรคอื่น หรือถ้าไม่มีพรรคที่ชอบเลย ก็ลองเสนอมาว่าต้องการพรรคแบบไหน เผื่อจะได้มีนักการเมืองที่เขามีความเชื่อตรงกันกับเรา ก็จะได้มาตั้งพรรคกัน
แต่ถ้าอะไรๆ ก็ไม่เอา ไม่ร่วม ตั้งแต่เนิ่นๆ รอจะลงถนนท่าเดียว ซึ่งเป็นปลายน้ำสุดของการเมืองแล้วแบบนั้น ก็หมิ่นเหม่ต่อเข้าสู่ทางตันทางการเมือง ดังนั้น 88 ปีประชาธิปไตย อย่าเอาแต่ท่องว่า อำนาจจะต้องเป็นของประชาชน หรือ การปกครองของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน อย่าเอาแต่ท่องว่า ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ
หากประชาชนไม่แข็งขันใช้อำนาจทางการเมืองตั้งแต่ต้นน้ำ จะรอไปร่วมตอนปลายน้ำท่าเดียว ถึงตอนนั้น ก็ไม่มีใครสนใจกฎหมายบ้านเมือง มีแต่กฎกู!
ดังนั้น เมื่อกฎหมายเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิ์กันแล้ว ก็ควรจะไปใช้สิทธิ์ใช้อำนาจทางการเมืองของตนเสีย อย่าปล่อยให้นักการเมืองไม่กี่คนในพรรคอ้างความชอบธรรมโดยการเกณฑ์คนของตนเข้ามาออกเสียง เพียงเพราะท่านไม่ตระหนักในสิทธิ์ของความเป็นสมาชิกพรรคของตัวท่านเอง