'ประยุทธ์' แถลงสภา! ลั่นตั้งงบปีหน้า 3.3 แสนล้าน มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิต
นายกฯ แถลงสภา! ลั่นตั้งงบปีหน้า 3.3 แสนล้าน มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิต เดินตามกรอบวินัยการเงินการคลัง
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ไม่เกิน 3.3 แสนล้านบาทสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2563 โดยใช้เป็นเครื่องมือสำคัญผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งรับบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกันทั้งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในประเทศและผลกระทบจากภายนอกรวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
สำหรับเศรษฐกิจในประเทศปี 2563 ที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากสงครามการค้าและผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลายลงรวมถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศตามการเริ่มฟื้นตัวของฐานรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว การผลิตภาคเกษตร และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ทั้งการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และการเบิกจ่ายภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวม 2,798,000 ล้านบาทและหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 121,000 ล้านบาท เหลือเป็นรายได้สุทธิที่นำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล 2,677,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเพียงพอ และไม่ส่งผลต่อหนี้สาธารณะ จึงกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 3,300,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลโดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,677,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 623,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,300,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย
ร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 มีเป้าหมายเพื่อให้การพัฒนาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการเสริมสร้างรายได้ของประชาชนเพื่อกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ซึ่งกระทรวงและหน่วยรับงบประมาณต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 และนโยบายสำคัญของรัฐบาล
ทั้งนี้ได้กำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 โดยนำยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งการบูรณาการในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อน ให้ความสำคัญกับการดำเนินภารกิจที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน
โดยให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือ พิจารณานำเงินดังกล่าวมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำ ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,300,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,677,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก จำนวน 623,000 ล้านบาท วงเงินงบประมาณดังกล่าวเป็นรายจ่ายประจำ2,526,131.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 674,868.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.5 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 99,000.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.0 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง