น้องทักษิณ 'ยิ่งลักษณ์' ในคดี 3 ศาล กฎหมายปิดทางกลับไทย
“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” สมาชิกครอบครัวชินวัตร คนที่ 3 ที่ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจาก ทักษิณ ชินวัตร และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยทั้ง 3 คน ต่างมีฉากชีวิตการเมือง ที่จบไม่ค่อยดี
‘ทักษิณ’ สิ้นสุดอำนาจจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และตามมาด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริต จนเป็นที่มาของการพิพากษายึดทรัพย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มากกว่า 4 หมื่นล้านบาท และยังมีคดีอาญาที่ถูกพิพากษาให้จำคุกและยกฟ้องหลายคดี
‘สมชาย’ เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์เช่นกัน ภายหลังเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีโอกาสเข้ามาทำงานในทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน และต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
การเมืองเปลี่ยนขั้วมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ได้ไม่นาน ภายหลังการเลือกตั้งปี 2554 ‘ยิ่งลักษณ์’ ได้ทิ้งตำแหน่งเก้าอี้ซีอีโอ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว ลงมาเล่นการเมืองครั้งแรก ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หมายเลขหนึ่ง ของ ‘พรรคเพื่อไทย’ อันเป็นการประกาศให้เห็นว่า เป็นผู้หญิงคนแรกที่ลงท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แข่งกับ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น
“ยิ่งลักษณ์” และพรรคเพื่อไทย ที่ได้หมายเลขหนึ่งใบบัตรเลือกตั้ง กวาดที่นั่ง ส.ส.เกินครึ่งสภาฯ และขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ด้วยการลงสนามการเมืองครั้งแรกเท่านั้น
วรรคทองของ ‘ยิ่งลักษณ์’ ที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยจดจำได้ คือ “ไม่คิดแก้แค้น แต่จะแก้ไข” ซึ่งสะท้อนนัยทางการเมืองได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เวลานั้นครอบครัวชินวัตรเพิ่งถูกยึดทรัพย์ และคดีความยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมอีกจำนวนมาก
จริงอยู่ ยิ่งลักษณ์ไม่ได้แก้แค้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่ได้แก้ไขมากเท่าใดนัก นอกเหนือไปจากปัญหาความโปร่งใสในโครงการรับจำนำข้าว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยแล้ว การโยกย้าย ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช.นับเป็นความด่างพร้อยของยิ่งลักษณ์เช่นกัน
การโยกย้ายให้ ‘ถวิล’ ไปนั่งตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกรุยทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ คนในครอบครัวชินวัตร ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกรณีนี้ มีการต่อสู้คดีกัน ทั้งในศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญตามลำดับ
กระทั่งศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้คืนตำแหน่ง ‘ถวิล’ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การกระทำของ ‘ยิ่งลักษณ์’ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ทำให้ยิ่งลักษณ์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
ดังนั้น หากจะบอกว่ายิ่งลักษณ์ปิดฉากทางการเมืองด้วยรัฐประหารในปี 2557 จึงไม่ถูก และไม่ผิดเสียทีเดียว เพราะในข้อเท็จจริงการพ้นจากตำแหน่งของยิ่งลักษณ์ เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร
จากวันนั้นถึงวันนี้ คดีการโยกย้าย ‘ถวิล’ ยังไม่สิ้นกระแส เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพิ่งได้มีมติชี้มูลความผิดอาญา และส่งรายงานความเห็นให้อัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เท่ากับแค่การลงนามโยกย้ายข้าราชการระดับสูงครั้งเดียว กลายเป็นคดีความถึง 3 ศาล ยิ่งกว่าคดีของทักษิณด้วยซ้ำ
คดีที่ ป.ป.ช.เพิ่งชี้มูลความผิดล่าสุดนั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า โอกาสที่ยิ่งลักษณ์จะได้กลับประเทศไทยเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มีหลักการให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จำเลยจะอาศัยการหนีคดีจนหมดอายุความ เพื่อออกจากที่กบดานเหมือนในอดีตได้
ไม่เพียงเท่านี้ การไม่มีตัวจำเลยมาฟ้องต่อศาล ไม่มีผลให้การพิจารณาต้องหยุดลงชั่วคราว เพราะในทางกลับกัน กระบวนการไต่สวนและสืบพยาน สามารถกระทำลับหลัง และพิพากษาจำเลยได้
อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้ศาลฎีกาทบทวนคำพิพากษา แต่บังคับให้จำเลยผู้อุทธรณ์ต้องมาปรากฏตัวต่อศาลด้วย
กฎหมายฉบับนี้มาจากการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้เจตนารมณ์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งเวลานี้การปฏิรูปได้เกิดผลแล้ว คือ การเป็นคนไทย ที่ไม่ได้กลับไทยของยิ่งลักษณ์