กดดันหนัก ชิงเก้าอี้ รมต. ไฟต์บังคับ 'ประยุทธ์' ไม่มีทางเลือก?
จับประเด็นร้อน! กดดันหนัก ชิงเก้าอี้ รมต. ไฟต์บังคับ 'ประยุทธ์' ไม่มีทางเลือก?
บรรยากาศมาคุ ภายในพรรคร่วมรัฐบาลเริ่มรุนแรงขึ้นทุกขณะ นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศพร้อมปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ จนล่าสุด "กลุ่ม 4 กุมาร" อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งแล้ว พร้อมหนังสือของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้วยในวันนี้ (16 ก.ค. 63)
เพียงแค่กลุ่ม 4 กุมารยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งสดๆร้อนๆ กระแสการตีตราจอง ชิงตำแหน่งภายในพรรคพลังประชารัฐ เริ่มร้อนระอุทันที
โดยเฉพาะตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เก้าอี้ที่ว่างหมาดๆ เกิดการช่วงชิงทันที หลังมีชื่อ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นแคนดิเดต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนใหม่ ตามโผ ครม. ล่าสุด
ความเคลื่อนไหวใน พปชร. ระดับแกนนำมีความต้องให้ "คนในพรรค" นั่งเก้าอี้ รมว.พลังงาน มากกว่า "คนนอก" ว่ากันว่า ส.ส.กลุ่มสามมิตร และ ส.ส.กลุ่มอื่นบางส่วนใน พปชร. นัดรวมพลแสดงพลังเรียกร้องให้การปรับ ครม. ถ้าไม่ได้รับการตอบรับ จะเดินหน้ากดดันจนกว่าจะมีการยุบสภา
ช่วงที่ผ่านมา มีกระแสข่าวรายงานต่อเนื่องว่า สำหรับ ตำแหน่ง รมว.พลังงาน เป็นที่หมายปองของกลุ่ม ส.ส.ภายในพรรค พปชร. โดยเฉพาะ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ต่างก็ต้องการตำแหน่งนี้เช่นกัน
น่าสนใจว่าตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ , รมว.คลัง , รมว.พลังงาน และ รมว.อุดมศึกษาฯ นั้น ถือว่าเป็น "โควตานายกฯ" อยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ แต่แกนนำ พปชร. พยายามขอคืนให้เป็น "โควตาพรรค" เพื่อจัดสรรใหม่
ขณะที่รายชื่อของคนที่จะเข้ามาเป็น รมต. นั้น ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ คั่วตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย มาดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง บุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน มีชื่อที่น่าจับตา อย่าง บุญทักษ์ หวังเจริญ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล ซึ่งอยู่ในทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกฯ
ล่าสุด (16 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่จ.ศรีสะเกษ กล่าวกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายหลัง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และกลุ่ม 4 กุมาร ลาออกจากรัฐมนตรี ว่า ตนเพิ่งทราบเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมาเหมือนกัน ก็ได้มีการพูดคุยกันมาเป็นระยะอยู่แล้ว ที่ผ่านมาจริงๆก็ไม่ได้ต้องมาพูดคุยกันว่า จะอะไรกัน เพียงแต่ว่าแต่ละคนถามเรื่องสุขภาพกันมานานแล้ว แล้วท่านบอกผมมานานแล้วว่า พร้อมที่จะทำตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตนไม่ได้มีอะไรกับท่าน ก็ยังเคารพท่านเหมือนเดิม
"สิ่งสำคัญการทำงานของผม ผมเป็นทหารมา ก็มีความผูกพัน แม้แต่กับคนที่ทำงานมาด้วย เขาเรียกว่าความผูกพัน ดูสิทำงานมาตั้ง 5 ปี และสิ่งสำคัญวันนี้ถือว่าท่านทำสำเร็จมาในขั้นต้นกับผมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการวางพื้นฐานดิจิทัลและอีอีซี เรื่องเหล่านี้ทุกท่านร่วมมือมากับผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะต้องพัฒนาประเทศให้ได้ เพราะถ้าเราไม่ทำพื้นฐานพวกนี้มันไปไม่ได้ แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองมันเปลี่ยนแปลงไป เรามองในมิติการเมือง เรื่องของการเมือง ท่านก็ออกไป จะบอกว่าก็เสียดาย แต่มันก็จำเป็นด้วยสถานการณ์ทางการเมือง ผมเองก็ไม่คุ้นเคยแบบนี้ แต่จำเป็นต้องตัดสินใจ เราก็จากกันด้วยดี ไม่มีการให้ร้ายอะไรซึ่งกันและกัน ผมไม่เคยทำร้ายใคร"
พลันที่ "นายกฯ" รับรู้ว่า สมคิดและ 4 กุมาร ลาออกจริง เท่ากับเป็นการ "ลดแรงกดดันลง" จากคนที่เคยทำงานด้วยกัน ผูกพันกัน 5 ปี แต่มรสุมพายุลูกใหญ่ที่ "พล.อ.ประยุทธ์" จะต้องรับมือคือการจัดสรรปรับ ครม. ให้ลงตัว ได้ภาพลักษณ์ที่ดีต่อสายตาประชาชน และได้คนมีฝีมือมาช่วยกันทำงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจชาติที่ทรุดย่ำแย่ให้พลิกฟื้นขึ้นมาจากวิกฤติโควิด-19
ทว่า ปัญหาใหญ่ของ "นายกฯ" จะแก้ปัญหาความต้องการของ "นักการเมือง" ภายในพรรคพลังประชารัฐอย่างไร สถานการณ์การต่อรองตำแหน่ง การยื่นเงื่อนไขต่างๆ เท่ากับเพิ่มแรงกดดันอย่างยิ่ง ราวกับว่าเป็น "ไฟต์บังคับ" บีบให้ไม่มีทางเลือก ถึงขั้นปลุกกระแสไม่กลัวยุบสภาหรือไม่ด้วย
แรงเสียดทานที่ "พล.อ.ประยุทธ์" ถูกบี้ในการปรับ ครม. และกำลังตอนให้เข้าตาจน หากสยบยอมตามความต้องการ อาจต่ออายุ ครม. ได้สักระยะ แต่บทบาทและสถานะ "ความเป็นผู้นำ" ที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังหวังว่า จะนำพาประเทศชาติพ้นวิกฤติ ย่อมมลายสิ้น จนหมดทางเลือกหรือเกินเยียวยา!!