'4 กุมาร' ประมาท(นัก)การเมือง เว้นวรรค-สร้างสถานะใหม่
ปิดฉาก 6 ปีที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี รับบท “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” รัฐบาล ร่วมสู้ ร่วมรบ เป็นขุนพลคู่ใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลเลือกตั้ง
ย้อนไปในช่วงเดือนสิงหาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1/1 ปลดทีมหม่อมอุ๋ย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี แล้วทาบทาม “สมคิด” ซึ่งขณะนั้นนั่งอยู่ในทีมที่ปรึกษา คสช. เจ้าตัวจึงชักชวนลูกศิษย์ในสังกัด ที่เรียกกันว่า “ทีมเทคโนแครต” มาช่วยงาน ประกอบด้วย “อุตตม สาวนายน” เข้ามานั่งเก้าอี้ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2558 “สุวิทย์ เมษินทรีย์” นั่ง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2558 เช่นกัน ขณะที่ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ตามมาสมทบภายหลัง โดยเข้ามานั่ง รมช.พาณิชย์ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2559
การดึงเด็กในสังกัดเข้ามาร่วมงานรัฐบาลประยุทธ์ของ “สมคิด” ก็เพื่อสร้างผลงาน กลบกระแส “รัฐบาลทหาร” เพราะหากย้อนกลับไปดู รัฐบาลประยุทธ์ 1/1 มีแต่ภาพ “ทหาร” นั่งคุมกระทรวงสำคัญเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ แม้ว่า “หม่อมอุ๋ย” จะนั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม ล้วนมีแต่ “บิ๊กทหาร” เป็นเจ้ากระทรวง ขณะที่ “ลูกทีม” ของหม่อมอุ๋ย มีพื้นที่แค่เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยเท่านั้น จึงทำให้การทำงานติดขัดอย่างมาก
ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ก็เชื่อคำแนะนำของ “สมคิด” ทยอยปรับ-ทยอยเปลี่ยน จากรัฐบาลลายพราง มาเป็นรัฐบาลลายพรางฉาบด้วยเทคโนแครต ทำให้ดูดีมีราคามากขึ้น โดยเฉพาะในสายตาประชาคมโลกที่ให้การยอมรับ เปิดใจ-เปิดประเทศให้ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปเยือน
หลังจากนั้น “สมคิด-ทีมเทคโนเครต” เดินเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจให้จุดติดทุกตัว เศรษฐกิจของประเทศได้เติบโตมาตามลำดับ จนกระทั่ง รัฐบาล คสช.จำต้องลงจากเรือแป๊ะ เพื่อขึ้นเรือเหล็ก โดยมี “สมคิด” คอยคิดวางแผนต่อคอนเนกชันกับ “นักเลือกตั้ง-นักการเมือง”
เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีวันไหนที่ “สมคิด” ไม่คิดเรื่องการเมือง ตั้งแต่เลิกรา-แยกวงกับ “พรรคไทยรักไทย” หรือ ทรท. “สมคิด” ก็ยังแฝงกายอยู่ในวงการเมืองมาตลอด ขึ้นอยู่กับจังหวะโอกาสว่า เวลาไหน สมคิดจะปรากฏตัวหน้าฉาก เวลาไหนที่จะแอบอยู่หลังฉากการเมือง
ภายหลังแยกตัวออกจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วงปี 2550 สมคิดได้ก่อตั้ง “กลุ่มธรรมาธิปไตย” พยายามรวบรวมกำลังพลจากค่ายไทยรักไทยมาร่วมงาน สะสมนักคิด-นักธุรกิจ รอส้มหล่นเผื่อจะมีคนเรียกใช้บริการ
“กลุ่มธรรมาธิปไตย” มีทั้ง “พิมล ศรีวิกรม์” และ ”เอนก เหล่าธรรมทัศน์” คอยนำแสดงแนวคิด โดยใช้โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ใจกลางกรุง เป็นสถานที่ดีลการเมือง
ผ่านไปสักระยะ “กลุ่มธรรมาธิปไตย” เริ่มเป็นที่รู้จัก “สมคิด” จึงทาบทาม “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ซึ่งขณะนั้นยังเป็นแกนนำกลุ่มมัชฌิมา แต่ “สมศักดิ์” ก็หอบ ส.ส.ไปสนับสนุน “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” เพราะทุ่มเท และเปย์มากกว่า
ด้าน "สมคิด” ก็กลับไปโผล่ร่วมวง “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ พิจิตต รัตตกุล สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ก่อตั้ง "พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา" แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อแรงขับเคลื่อนทางการเมืองแผ่วลง สุดท้ายก็ต้องแยกวง
“สมคิด”เองก็ซ่อนตัวทางการเมือง โดยมาปรากฏตัวอีกครั้งหลังรัฐประหารปี 2557 จากคนวงนอก วางเกมแทรกซึมเป็นคนวงใน เมื่อจัดแจงงานเศรษฐกิจเสร็จสรรพ ภารกิจต่อไปคือการส่ง “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง
“สมคิด” วางแผน-วางเกม แปลงทีมเทคโนแครตให้มาช่วยจัดตั้งพรรคการเมือง เคาะชื่อกันที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทั้ง อุตตม-สนธิรัตน์-สุวิทย์-กอบศักดิ์ รับบทหนังหน้าไฟ เดินสายทางการเมือง-ทางวิชาการ-ทางธุรกิจ ปิดจ็อบเลือกตั้งผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ สำเร็จดั่งหวัง แม้จะทุลักทุเลไม่น้อย
ผ่านไป 1 ปี รัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” ประคับประคองอยู่รอดมาได้ แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยน “สมคิด-4 กุมาร” กลับไร้ที่ยืนในพรรค เพราะโดนนักการเมืองเขี้ยวลากดิน พยายามเบียดออก
หลายวงการเมือง วิเคราะห์กันว่า จุดอ่อนของ “สมคิด - 4กุมาร” คือไว้ใจคนการเมืองมากไป การจัดลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากยึดตามพรรคการเมืองอื่น หัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค-รองหัวหน้าพรรค-โฆษกพรรค จะต้องมีชื่ออยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคลำดับต้นๆ เพื่อการันตีว่ามีตำแหน่ง ส.ส.แน่นอน
ทว่า “สมคิด-4 กุมาร” คิดต่าง ไม่ต้องการเก้าอี้ ส.ส. มุ่งหน้าสู่อำนาจ โฟกัสที่เก้าอี้รัฐมนตรี โดยไม่คาดคิดว่า เก้าอี้ ส.ส.คือฐานที่มั่นสำคัญในการเมือง เพราะจะสิ้นสุดสถานภาพส.ส.ก็ต่อเมื่อ ลาออกด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่มีใครมาบีบบังคับปรับออกไปได้เหมือนตำแหน่งรัฐมนตรี จึงกลายเป็นก้าวที่พลาดอย่างคาดไม่ถึง
แม้ “สมคิด - 4กุมาร” จะมี ส.ส.ที่ส่งเข้าไปแทรกซึมอยู่ในสังกัดพอสมควร แต่อาจลืมคิดไปว่า นักเลือกตั้ง นักการเมือง เปลี่ยนจุดยืนได้เสมอ
อีกทั้ง “สมคิด” อาจไม่ได้ประเมินไปถึงปมในอดีตที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เก็บงำความไม่พอที่ “สมคิด” เคยเลื่อยขา “หม่อมอุ๋ย” เพื่อนรักของ “บิ๊กป้อม” และมีอีกหลายฉากการเมืองที่ “บิ๊กป้อม-สมคิด” ชิงเหลี่ยม-ชิงรัก จาก พล.อ.ประยุทธ์
เมื่อ “บิ๊กป้อม” มีนักเลือกตั้ง-นักการเมือง อยู่ข้างกาย คอยคิดวางเกม แก้เกม พร้อมกับอาศัยบารมีของ “บิ๊กป้อม” คอยขับเคลื่อนการเมืองให้ จนกระทั่งปฏิบัติการยึดพรรค ที่ถูกวางหมากเอาไว้หลายชั้น จึงต้อน “สมคิด - 4 กุมาร” จนมุม
ประกอบกับคนรอบกาย “พล.อ.ประยุทธ์” ยังผสมโรงประเมินว่า “สมคิด - 4 กุมาร” หมดไอเดียในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จึงถึงเวลาที่จะต้องยกเครื่องใหม่ หาทีมใหม่ มากู้สถานการณ์เศรษฐกิจให้ดีขึ้น แม้จะรู้ว่าเสี่ยงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จำเป็นต้องเลือกทางใหม่ เพื่อไปให้รอด
แม้วันนี้ “สมคิด - 4กุมาร” จะปิดฉากทางการเมือง ถอยออกจากรัฐบาลประยุทธ์ แต่แวดวงนักการเมืองทำนายว่า “สมคิด” คงลี้ภัยทางการเมืองได้ไม่นาน รอจังหวะสร้างสถานะใหม่ เตรียมเชิด “4 กุมาร” กลับมายืนหน้าฉากการเมืองอย่างโดดเด่นอีกครั้ง