เผยช่องโหว่คดี 'บอส อยู่วิทยา' จงใจ 'สบช่อง' ปิดคดี?
ยังคงมีเสียงวิจารณ์ไม่หยุด กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง "นายบอส" หรือ "วรยุทธ อยู่วิทยา" ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 55 ทั้งๆ ที่สั่งฟ้องข้อหาหลักไปแล้ว แต่มาเปลี่ยนคำสั่งภายหลังจากเกิดเหตุนานถึง 8 ปี
กระแสเรียกร้องที่สังคมอยากรู้ก็คือ อะไรเป็น "หลักฐานสำคัญ" หรือ "หลักฐานใหม่" ที่ทำให้อัยการสั่งคดีใหม่ เปลี่ยนจาก "สั่งฟ้อง" เป็น "สั่งไม่ฟ้อง"
ก่อนอื่นต้องย้อนเรื่องคดีนี้แบบสั้นๆ เหตุเกิดปี 55 ผ่านมา 5 ปี คือปี 60 มีข่าวดังจากสื่อต่างประเทศว่า นายบอสใช้ชีวิตสุขสบายที่เมืองนอก ในขณะที่ข้อหาต่างๆ ทยอยขาดอายุความ
ครั้งนั้นคณะทำงานของอัยการต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวใหญ่ ชี้แจงว่า มีบางข้อหาขาดอายุความจริง แต่ข้อหาหลักยังอยู่ในอายุความ คือข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ย้อนไปดูข้อมูลของอัยการตอนนั้น แบ่งข้อหาเป็น 3 ข้อหาดังนี้
1. ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขาดอายุความตั้งแต่หลังเกิดเหตุครบ 1 ปี
2. ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน ขาดอายุความเป็นข้อหาที่ 2
3. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ยังอยู่ในอายุความ (หมดอายุความปี 2570)
ทั้ง 3 ข้อหา เคยเป็นข้อหาที่ตำรวจ หรือ "พนักงานสอบสวน" มีความเห็น "สมควรสั่งฟ้อง" และส่งสำนวนมาให้อัยการ โดยในส่วนของข้อหาเมาแล้วขับ ตำรวจไม่ฟ้อง จะเห็นได้ว่าเมื่อฟ้องมาแล้ว 3 ข้อหา ก็ขาดอายุความอีก 2 ข้อหา เมื่อยังไม่ได้ตัวนายบอสมาฟ้องตามกำหนดอายุความ ก็ต้องถือว่าคดีสิ้นสุดไป
เหลือเฉพาะข้อหาที่ 3 ข้อหานี้สำคัญ เพราะอัยการเคยสั่งฟ้องไปแล้ว แต่มาเปลี่ยนคำสั่งในภายหลัง
ข้อหานี้บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท อายุความ 15 ปี
จะเห็นได้ว่า ข้อหาขับรถชนตำรวจตาย อัยการมีความเห็นสั่่งฟ้องไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 (ซึ่งอาจจะฟ้องไปแล้วก่อนหน้านั้น แต่เพิ่งมาแถลงตอนปี 2560) ตอนนั้นคณะทำงานอัยการแถลงชัดเจนว่า ได้มีการสั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมในหลายประเด็น จนมีหลักฐานชัดเจน จึงมีความเห็นสั่งฟ้อง และเมื่อนายบอสอยู่ต่างประเทศ ก็ต้องดำเนินการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ถ้ายังจำกันได้ ตอนนั้นมีการเกี่ยงกันระหว่างอัยการกับตำรวจ ว่าใครจะต้องเป็นผู้แปลเอกสาร สุดท้ายต้องไปจ้างเอกชนแปล นี่คือความน่าอนาถใจของคดีนี้
คำถามก็คือ เมื่อหลักฐานชัดเจนแล้ว สอบสวนเพิ่มเติมก็แล้ว แปลเอกสารขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็แล้ว เหตุใดจึงมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งของอัยการในภายหลัง?
เรื่องนี้มีข่าวว่า คณะทำงานอัยการชุดเดิม ก็โยกย้ายขยับตำแหน่งกันไปตามระบบราชการ มีอัยการชุดใหม่เข้ามา แล้วก็มีทนายของนายบอส เข้าไปยื่นร้องขอความเป็นธรรม ทำให้มีการรื้อคดีขึ้นมาอีก และสั่งตำรวจสอบสวนเพิ่มเติม
เมื่อวาน (24 ก.ค.) รองโฆษกตำรวจก็ยอมรับประเด็นนี้ จากนั้นเมื่อตำรวจส่งหลักฐานจากการสอบสวนเพิ่มเติมไปให้อัยการ อัยการก็มีความเห็นใหม่ เปลี่ยนเป็น "สั่งไม่ฟ้อง" โดยมีข่าวว่าคนที่นั่งใหม่ไม่ใช่คณะทำงานของอัยการ หรืออธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ แต่เป็นระดับ "บิ๊กกว่านั้น" และน่าจะเป็นคนเดียวกับที่เคยสั่งไม่อุทธรณ์ลูกอดีตนายกฯคนดัง จนเป็นข่าวเกรียวกราวด้วย
คำถามก็คือ อะไรคือหลักฐานใหม่ที่ตำรวจส่งไป ทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง คำตอบที่มีการวิเคราะห์กันก็คือ คดีนี้ตำรวจทำสำนวนไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก ทั้งเรื่องเมา ก็ไม่มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ทันที และเรื่อง "ความเร็วของรถ" ก็มีการอ้างว่าไม่มีหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ซึ่งประเด็นนี้คณะทำงานของอัยการชุดแรกที่มีคำสั่งฟ้อง ได้สั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่ม และให้หาวิธีตรวจสอบความเร็วรถด้วยวิธีอื่น จึงมีการไปทำรวบรวมพยานหลักฐานมาใหม่ ใช้การวัดระยะจากรอยเบรกบนถนน ประกอบกับสภาพการยุบตัวของโครงรถ ผลจึงออกมาว่าขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ประเด็นนี้ พันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปตำรวจมาตลอดบอกว่า อาจจะเป็นช่องโหว่ หรือความไม่ชัดเจนของคดีที่ฝ่ายทนายหยิบมาใช้ประโยชน์ ยื่นร้องเรียนอัยการให้ตรวจสอบใหม่ เพราะถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าขับรถเร็ว ก็เท่ากับไม่ประมาท ก็จะไม่มีความผิดในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
นี่คือจุดเปลี่ยนของคดี ซึ่ง พันตำรวจเอก วิรุตม์ บอกว่า ต้องตรวจสอบย้อนกลับไปที่การทำงานของพนักงานสอบสวนด้วย ไม่ใช่อัยการฝ่ายเดียว
นี่คือปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นทั้งในชั้นตำรวจ และชั้นอัยการ คำถามที่ทั้งสองฝ่ายต้องตอบ ก็คือ ตำรวจจงใจทำสำนวนอ่อนหรือไม่ หลักฐานกล้องวงจรปิด หรือการตรวจวัดความเร็วของรถ ไม่มีจริงๆ หรือ? และคณะทำงานของอัยการชุดใหม่มีเหตุผลมากเพียงใดในการรื้อสำนวนคดีมาสั่งใหม่ เพราะการสั่งคดีของคณะทำงานชุดเดิม ก็ได้สั่งสอบเพิ่ม และรวบรวมพยานหลักฐานจน "สิ้นกระแสความ" แล้ว
ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องเปิดหลักฐาน รายละเอียดในสำนวนเฉพาะที่ไม่กระทบกับคู่ความ และกระบวนการทำงานของตำรวจและอัยการ มาให้ประชาชนได้ทราบอย่างโปร่งใส