นักกฎหมาย แนะ 3 ทางรื้อคดี 'บอส อยู่วิทยา'
“นักกฎหมาย” เปิด 3 แนวทาง ฟื้นคดี “บอส อยู่วิทยา" ตำรวจแสดงความบริสุทธ์ใจ ตั้งเรื่องรื้อคดีขับรถโดยประมาท ด้านนายกฯวอนประชาชนใจเย็น รอผลสอบคณะกรรมการ
“จักรทิพย์” ยันไม่เคยเซ็น“ไม่เห็นแย้ง” รับเป็น ผบ.ตร.ไม่รู้ข้อกฎหมาย ขณะที่ “จารุชาติ มาดทอง” ประสบอุบัติเหตุดับที่เชียงใหม่ ตำรวจยันไม่เกี่ยวข้องคดีดัง
หลังมีข้อถกเถียงในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายของ นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และตำรวจไม่ทำความเห็นแย้ง จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทำให้หลายหน่วยงานต้องมีการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบคำสั่งของอัยการที่ทำให้นายวรยุทธ รอดทุกข้อกล่าวหา
ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถาม นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด หนึ่งในคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งของอัยการแต่ปรากฏว่านายประยุทธไม่ยอมตอบแบบฟันธง โดยบอกเพียงว่าต้องรอคณะทำงาน 7 อรหันต์ตรวจสอบสำนวนการสอบสวนทั้งหมดก่อน
นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากนักกฎหมายอีกหลายคน ได้ข้อมูล การแก้ “คำสั่งไม่ฟ้อง” ของอัยการสามารถทำได้ 3 แนวทาง
1. พิจารณาตามป.วิอาญา มาตรา 145/1 ประกอบมาตรา 147 คือตีความว่า คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ และฝ่ายตำรวจไม่ทำความเห็นแย้ง แปลว่าคดีสิ้นสุด เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญแก่คดีที่มีน้ำหนักมากพอ แล้วทำสำนวนเสนออัยการอีกรอบหนึ่ง
2. รอผลการตรวจสอบสำนวนการสั่งไม่ฟ้องของคณะทำงาน 7 อรหันต์ของฝ่ายอัยการ ถ้าพบว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบ ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฝ่ายตำรวจพบว่ามีการใช้พยานหลักฐานเท็จ ทางพนักงานสอบสวนหรืออัยการก็จะมีช่องทางในการหยิบสำนวนคดีกลับมาพิจารณาใหม่ หรือ “สั่งฟ้อง” ได้
3. อัยการสูงสุดใช้อำนาจดึงสำนวนคดีกลับมาพิจารณาใหม่ เพราะการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ไม่ได้ใช้อำนาจอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นอำนาจเด็ดขาดแต่เป็นการใช้อำนาจของ นายเนตร นาคสุข ในฐานะอธิบดีอัยการสำนักคดีศาลสูง ขณะรักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุดเท่านั้น
จี้ตำรวจรื้อคดีขับรถประมาท
แหล่งข่าวซึ่งเป็นนักกฎหมายระดับสูง กล่าวถึงความเป็นไปได้ว่า แนวทางที่ 2 กับ 3 อาจมีบางฝ่ายติติงว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เขียนไว้ ฉะนั้นจึงอยากให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมองกฎของสังคมและความเป็นธรรม โดยเฉพาะหลักนิติธรรมมากกว่ายึดแต่ตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถรื้อคดีนี้ขึ้นมาได้ คือ กรณีที่ครอบครัวของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ตาย ไม่พอใจผลการสั่งคดีของอัยการที่เปลี่ยนคำสั่งฟ้องเป็นสั่งไม่ฟ้อง
ทางครอบครัวก็สามารถยื่นฟ้องคดีเองต่อศาลได้ เพราะคดียังอยู่ในอายุความ แต่ข้อจำกัดของแนวทางนี้ก็คือ ป.วิอาญา มาตรา 5(2) กำหนดให้เฉพาะบุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา จัดการแทนผู้เสียหาย กรณีผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ โดยบุพการี คือ พ่อกับแม่ ผู้สืบสันดานคือลูก สามีหรือภริยา คือคู่สมรส ซึ่งปรากฏว่า ด.ต.วิเชียร น่าจะไม่มีทั้งพ่อ แม่ ลูก รวมถึงคู่สมรส จึงอาจใช้ช่องทางนี้ไม่ได้
แหล่งข่าวยังระบุว่าจริงๆ แล้วข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ ตำรวจสามารถแสวงหาหลักฐานดำเนินคดีได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอให้ครอบครัวผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์ เมื่อตำรวจแจงล่าสุดว่า การสั่งสอบพยานเพิ่ม เป็นพยานที่ฝ่ายอัยการระบุตัวไม่เกี่ยวกับตำรวจ ก็สมควรอย่างยิ่งที่ฝ่ายตำรวจจะตั้งคดีขึ้นใหม่ และสรุปสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องยืนยันกลับไปให้อัยการ
“ทวี” เสนอ 3 ข้อปฏิรูประบบ
ด้านพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ อดีตรองผู้บังคับการปราบปราม และอดีตอธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการปฏฺิบัติหน้าที่ของอัยการและตำรวจ ทั้งนี้ตนมีข้อเสนอในการสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลและอำนวยความยุติธรรม เห็นควรศึกษาเพื่อปฏิรูปกฎหมาย คือ
1. กรณีพนักงานสอบสวนสั่งฟ้อง และอัยการสั่งไม่ฟ้อง ถ้าผู้เสียหายเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ประสงค์จะฟ้องคดีเองได้ 2. ความผิดต่อรัฐ เช่น คดีภาษีอากร ป่าไม้ที่ดิน ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง หน่วยงานที่ได้รับความเสียหายและไม่เห็นด้วยสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้เอง
3. กรณีที่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยในกระบวนการยุติธรรมและผู้เสียหายไม่ฟ้องเอง กรณีนี้ควรให้องค์กรอิสระ สักหน่วยงานหนึ่งเข้ามาทำการตรวจสอบและมีอำนาจฟ้องต่อศาลเพื่อรักษาความยุติธรรมของประเทศ
นายกฯขอใจเย็นๆสอบคดีบอส
ส่วนความคืบหน้าการตั้งคณะทะงานชุดต่างๆเพื่อติดตามการรื้อคดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ตนในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ ให้ความเป็นธรรม ในเรื่องคดีที่มีปัญหาเกิดขึ้น ขอให้ใจเย็นๆนิดนึง รอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการทั้ง 3 คณะ ซึ่งมีกำหนดเวลาในการพิจารณาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอัยการ ศาล หรือของ สตช.โดยต้องดูความเป็นมา และข้อกฎหมายหลายตัว
ขณะเดียวกัน ตนได้ตั้งคณะทำงานไปแล้ว ซึ่งมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน และมีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายอยู่ด้วย ซึ่งต้องดูขั้นตอนต่างๆเหล่านี้เกี่ยวข้องกันอย่างไรต้องแก้ทั้งระบบด้วยเพื่อให้เกิดความชอบธรรมฉ,ธได้รับการยอมรับเชื่อมั่น อย่างไรก็ดีตนได้ย้ำในที่ประชุมตร.ว่าไปว่าตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นการทำคดี จัดทำสำนวนต่างๆจะต้องรอบคอบ ระมัดระวัง
“จักรทิพย์”ยันไม่เคยเซ็น“ไม่เห็นแย้ง”
ด้านพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังรอผลจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตนแต่งตั้งขึ้น ซึ่งตอนแรกมีการขอกรอบการตรวจสอบมา 30 วัน แต่ตนให้เพียง 15 วัน เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ
“กรณีสำนวนที่อัยการ มีความเห็นอัยการส่งมา ผมไม่เคยเห็นสำนวนอัยการดังกล่าว ดำรงตำแหน่งมา 5 ปี ไม่เคยเซ็นสำนวนเห็นแย้ง ไม่เห็นแย้ง งานไม่เคยผ่านผมจริง ๆ มีการแบ่งงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน ให้กับ รองผู้บัญชาการตำรวจ ทุกท่าน ไปตามหน้างานต่าง ๆ เพราะเป็นความรับผิดชอบของผู้ที่ผมมอบหมายไปแล้ว มอบแล้วก็มอบขาดไปเลย ที่ผ่านมามีสื่อหรือใครพยายามโยงว่าผมต้องเกี่ยวข้อง ผมอาจจะรับผิดชอบในส่วนที่เป็นหัวหน้าองค์กร แต่การแบ่งหน้างานก็แบ่งไปหมดแล้ว และ 5 ปีที่ผ่านมาผมไม่เคยเห็นสำนวนเหล่านี้” ผบ.ตร. กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้แต่ตอนที่ทำหน้าที่ สนช. ในสภาก็ไม่เคยผ่านตามาก่อน ทั้งนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับทาง พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้ผบ.ตร.ซึ่งเซ็นความเห็นดังกล่าว ตนไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายมากขนาดนั้น มีความรู้สู้นักกฎหมายจริง ๆ ไม่ได้ ตนไม่อายที่ เป็นผบ.ตร. แล้วไม่รู้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา และคณะที่พิจารณากันอยู่ใครจะไปแทรกแซงไม่ได้
รองโฆษกอัยการยัน4ส.ค.รู้ผลสอบ
ส่วนนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึง การประชุมคณะทำงานของอัยการ กรณีการพิจารณาการไม่สั่งฟ้องคดีนายวรยุทธว่า ได้นัดประชุมคณะทำงาน ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ซึ่งการพิจารณามีความคืบหน้าไปมาก และจากการประเมิน ก็คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 7 วัน คือไม่เกินวันที่ 4 ส.ค
ส่วนกรณีที่ไปเข้าพบ กมธ.กฎหมายการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน พร้อมกับอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ในฐานะตัวแทนของสำนักงานอัยการสูงสุด และเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริงนั้น เพื่อไปขอเลื่อนการชี้แจง เพราะคณะทำงานยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ และได้นัดหมายใหม่ในวันพุธที่ 5 ส.ค. ซึ่งก็จะอยู่ในกรอบ 7 วันตามที่ระบุ
กมธ.งัดพ.ร.บ.ออกคำสั่งเรียกชี้แจง
ขณะที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ในวันที่ 5 ส.ค.จะมีการประชุมร่วม 3 กมธ.คือกมธ.กฎหมายฯ กมธ.ศาลฯ และกมธ.ตำรวจ เพื่อพิจารณาคดีนายวรยุทธ โดยมีผู้ชี้แจงทั้งตำรวจ และอัยการ รวมถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นายเนตร นาคสุข อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง และ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ซึ่งเป็นผู้ลงนามไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ รวมทั้งพยานใหม่ 2 ปาก
นอกจากนี้ ได้เชิญ กมธ.กฎหมายฯ สนช. และเจ้าหน้าที่ชวเลข ที่บันทึกการประชุม กมธ.มาชี้แจงด้วย ที่สำคัญ กมธ.ได้เชิญ นายวรยุทธ และทนายของนายวรยุทธด้วย หาก นายวรยุทธ์และทนาย ไม่ยอมมาชี้แจงต่อกมธ.2 ครั้ง ก็จะออกคำสั่งเรียกตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียก แต่ถ้าไม่มาอีก ก็จะดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกต่อไป
พยานปากเอกในคดีเสียชีวิตแล้ว
วันเดียวกันมีรายงานว่านายจารุชาติ มาดทอง หนึ่งใน2พยานที่ให้ข้อมูลจนทำให้นายวรยุทธรอดจากข้อกล่าวหาได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเมื่อคืนวานนี้โดยขณะนี้ลูกสาวและญาติได้เดินทาง มารับศพนายจารุชาติ ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
พ.ต.อ.กฤษณะพัฒนเจริญ รองโฆษกตร.เปิดเผยถึง กจากการสืบสวนได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดในบริเวณดังกล่าวเบื้องต้นพบว่าเป็นอุบัติเหตุซึ่งเกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์แล้วเฉี่ยวชนกันของคู่กรณี โดยขณะนี้ในส่วนของนายจารุชาติอยู่ระหว่างชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตต่อไป ส่วนคู่กรณีได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอีกครั้งโ
เช่นเดียวพ.ต.อ.รณชัย รอดลอยผกก.สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ยืนยันว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นอุบัติเหตุทางถนน โดยนายจารุชาติ ขับขี่รถจักรยานยนต์ ตามรถจักรยานยนต์คู่กรณี หลังจากนั้นได้พยายามขับแซงก่อนเกิดการเฉี่ยวชน และเสียหลักล้มไปชนกับขอบฟุตบาท ทำให้ศรีษะ ไปกระแทกฟุตบาทก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยจากการตรวจสอบระดับแอลกอฮอล์ทั้งในตัวนานจารุชาติและคู่กรณี พบว่ามีแอลกอฮอล์ทั้งคู่ส่วนที่เกี่ยวข้องคดีดังนั้นเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับคดีแน่นอน
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า สำหรับนายจารุชาติ ปรากฏชื่อเป็นพยานสำคัญที่เข้าให้ปากคำวันเดียวกันกับ พล.อ.ท.จักกฤชถนอม กุลบุตร เพื่อยืนยันว่าเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ว่านายวรยุทธ ขับรถด้วยความเร็วแค่ 50-60 กม./ชม.
ป.ป.ช.รับลูกนิติศาสตร์ยื่นหนังสือ
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า กรณีนักศึกษานิติศาสตร์ทั่วประเทศจะมายื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนอัยการที่เกี่ยวข้องในการออกคำสั่งไม่ฟ้องคดี เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยสุจริตหรือไม่นั้น ป.ป.ช.พร้อมดำเนินการหาข้อเท็จจริงตามกระบวนการ มั่นใจว่าจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจ
ส่วนที่ ป.ป.ช. เคยสอบเรื่องนี้ไปแล้ว และมีมติชี้มูลตำรวจที่เกี่ยวข้องว่ามีความผิดวินัยแต่ไม่ร้ายแรง นั้น นายวรวิทย์กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการทำหน้าที่ของตำรวจในช่วงแรกเท่านั้น ไม่ใช่กรณีร้องขอความเป็นธรรม.