'เพื่อไทย' ออกแถลงการณ์ ย้ำจุดยืน 'แก้ไขรัฐธรรมนูญ' เพื่อประชาชน
"เพื่อไทย" ออกแถลงการณ์ ย้ำจุดยืน "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" เพื่อประชาชน ดันตั้งส.ส.ร.ทำรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 27 ส.ค.63 "พรรคเพื่อไทย" ออกแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับท่าทีและจุดยืนต่อการ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ดังนี้ ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย มีมติไม่ร่วมลงชื่อในญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจสมาชิกวุฒิสภา ในการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หรือการยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาตาม มาตรา 269 การยกเลิกหน้าที่ และอำนาจของวุฒิสภาในเรื่องการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ตาม มาตรา 270 การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ตาม มาตรา 137 (2) หรือ (3) ตาม มาตรา 271 นั้น ขอชี้แจงว่า
1. พรรคเพื่อไทยเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหามากมายในแทบทุกหมวด รวมทั้งบทเฉพาะกาล ซึ่งรวมทั้งสิ้นมี 279 มาตรา หลายปัญหาโยงใยเกี่ยวข้องกันในหลายหมวด และหลายบทมาตรา แม้แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ประกอบด้วยตัวแทนของพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรเกือบทุกพรรคก็มีความเห็นสอดคล้องต้องกันในเรื่องนี้
2. พรรคเพื่อไทยเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีขึ้นเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมุ่งสืบทอดระบอบเผด็จการอำนาจนิยม โดยเห็นได้ชัดเจนจากบทบัญญัติในหลายมาตรา ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ ระบบเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การปฏิรูปประเทศ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเฉพาะกาล ระบบและกลไกที่กล่าวมามีแต่จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง ความอยุติธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน ความล้มเหลวทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพราะไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มีขึ้นเพื่อปกป้อง รับฟัง และยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง พรรคได้ต่อสู้ วิพากษ์วิจารณ์ และรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น จนสมาชิกของพรรคหลายคนถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ และถูกดำเนินคดีนับไม่ถ้วน
3. พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่ง หรือประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือหลายประเด็น ไม่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ออกแบบมาเช่นนี้กลายเป็นรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนได้ พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า ในเบื้องต้นมีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งที่ดำรงมากว่า 15 ปี และยุติระบอบเผด็จการอำนาจนิยม รวมถึงระบบรัฐราชการได้ นั่นคือ การสร้างกลไกให้ประชาชนเป็นผู้ร่างและให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งต้องทำทั้งฉบับ
4. การให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะประชาชนจะเป็นผู้แก้ปัญหาต่างๆของประเทศด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่พวกรัฐประหารที่ชอบอ้างว่าทำเพื่อประชาชน แต่สิ่งนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และวุฒิสมาชิกอย่างน้อยอีก 84 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 พรรคเพื่อไทยจึงได้ยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร. และแก้ไขเงื่อนไขที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แทบเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปตามปกติเช่นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
5. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ดังกล่าว พรรคเพื่อไทยยกร่างตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 และได้เสนอพรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรคในขณะนั้นตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2562 โดยกำหนดว่าจะไม่แก้ไขในหมวด 1 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นรัฐเดี่ยว การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ตลอดจนความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง หมวด 2 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการแก้ไขทั้งฉบับ เพราะพรรคเพื่อไทยเคยได้รับบทเรียนมาแล้ว ด้วยการถูกกล่าวหา และดำเนินคดีฐานล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอาจยังมีความพยายามที่จะอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22 / 2555 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อน แม้คำวินิจฉัยในส่วนนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีก็ตาม ซึ่งจะยิ่งเสียเวลา และอาจมีการข่มขู่ คุกคาม โกง จนผลประชามติออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดจึงเห็นพ้องต้องกันมาตั้งแต่นั้น หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ได้แสดงจุดยืนในประเด็นดังกล่าวมาเป็นระยะๆ ในโอกาสการจัดเวทีเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านในจังหวัดต่างๆอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2562 เป็นต้นมาโดยใช้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหลัก
6. ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผู้แทนพรรคเพื่อไทยได้เสนอแนวคิดเรื่อง ส.ส.ร. และเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ให้คณะกรรมาธิการพิจารณา จนมีการแถลงข่าวของประธานคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมาธิการ ในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ว่า จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. ขึ้น และทางพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประชุมกันในวันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ณ ห้องผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีประเด็นว่าควรตัดข้อห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ออกไปหรือไม่ และควรเสนอขอแก้ไขเรื่องที่มาของวุฒิสภา และอำนาจของวุฒิสภา ตลอดจนมาตรา 279 ที่ให้ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ ค.ส.ช. มีผลใช้บังคับต่อไปโดยให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดว่า
ในเบื้องต้นควรเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ตามร่างเดิมเพียงประเด็นเดียวก่อน และนัดวันยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ช่วงเช้า โดยขอให้ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมลงชื่อเสนอญัตติ ซึ่งต่อมาก่อนยื่นญัตติ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล จำนวน 21 คน ขอถอนชื่อออก โดยให้เหตุผลว่าร่างแก้ไขมาตรา 256 ดังกล่าวมีการสงวนไม่แก้ในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ไว้ ทั้งๆที่ผู้เข้าร่วมประชุมของพรรคก้าวไกลในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2563 ประกอบด้วย หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ส.ส.รังสิมันต์ โรม และ อ.ปิยะบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการฯ ของพรรคก้าวไกล ได้เห็นชอบในร่างดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2563 และเปลี่ยนใจในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2563
7. พรรคเพื่อไทยขอเรียนว่า การดำเนินการของพรรคในการ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ฉบับปัจจุบันด้วยการให้มี ส.ส.ร. นั้น เป็นไปโดยสุจริต มุ่งหวังผลสำเร็จที่เป็นจริง จากความร่วมมือกันของทุกฝ่ายให้เป็นโรดแมปของประเทศ เพื่อมีกติกาใหม่ที่ทุกอย่างต้องจบที่กติกานี้ ซึ่งเป็นกติกาของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ไม่มีการสืบทอดอำนาจ หรือให้เผด็จการอำนาจนิยมและรัฐราชการครอบงำประชาชนและสังคมอีกต่อไป พรรคจึงเริ่มจากการขอความเห็นชอบจากพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค จนปัจจุบันพรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นด้วย นักเรียน นักศึกษา ประชาชนก็เห็นด้วย และเรียกร้องให้มี ส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่บนหนทางยังมีอุปสรรคขวากหนามอีกมาก จึงต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างให้มากที่สุด ใช้ความจริงใจ สุจริตใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันเป็นสำคัญ ขจัดความหวาดระแวงทั้งปวงโดยมีพลังของพี่น้องประชาชน นิสิต นักศึกษา นักเรียนช่วยกันผลักดันเกื้อหนุนประเทศก็จะมีทางออกที่สันติ และทำให้อำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงในที่สุด
8. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในประเด็นอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะเรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา ที่มาของวุฒิสภา และ มาตรา 279 นั้น ล้วนแต่อยู่ในวิสัยที่จะร่วมปรึกษาหารือ และสร้างความเห็นพ้องร่วมกันต่อไปในห้วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่การสนองความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง และปัจจัยเกื้อหนุนที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ
พรรคเพื่อไทย ขอเรียนว่า ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทย ในปัจจุบัน ทั้งพรรค ส.ส. สมาชิก และผู้สนับสนุน ถูกข่มเหงรังแกอย่างโหดเหี้ยม จากระบอบเผด็จการอำนาจนิยมมาอย่างต่อเนื่องนับครั้งไม่ถ้วน แต่พวกเราก็อดทน อดกลั้น ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความถูกต้องอย่างไม่เคยย่อท้อ เราเจ็บปวดยิ่งกว่าใครทั้งสิ้น แต่เราก็หวังให้บ้านเมืองมีสันติสุข และใช้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงแก้ปัญหาความขัดแย้งและการบริหารประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีอนาคต มีความหวังที่เป็นจริงได้ มีความมั่นคง มีความสุข พรรคเพื่อไทยต้องการพัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันทางการเมือง ที่มีคำตอบเป็นรูปธรรมให้พี่น้องประชาชน และจะยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชนบนเส้นทางประชาธิปไตยตลอดไป