'ล่าชื่อ-ถอดถอน' นักการเมืองท้องถิ่น อำนาจใหม่ในมือประชาชน
เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับภาคประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่น
เมื่อมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) 1 ก.ย. 2563 อนุมัติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) 2 ฉบับสำคัญ เพื่อเป็นกลไกควบคุมการทำงานฝ่ายบริหารท้องถิ่น 7,850 แห่งใน 98,940 ตำแหน่งทุกระดับทั่วประเทศ
ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ 11 ต.ค.-10 พ.ย.2562 รวมถึงเว็บไซต์กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ 28 พ.ค.2563 พร้อมเผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นและผลการวิเคราะห์ทางกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบ
เมื่อร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับผ่าน ครม.แล้ว ขั้นต่อไปจะไปที่สำนักงานกฤษฎีกา จากนั้นต้องมารับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุไว้ว่า “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ”
สำหรับร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น และร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น จะเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าเดิม ตั้งแต่การเสนอข้อบัญญัติ รวมถึงร่วม “ตรวจสอบ” นักการเมืองระดับท้องถิ่น บนหลักการที่ว่า “เลือกได้ต้องถอดถอนได้” โดยเฉพาะภาคการเมืองระดับท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญให้ขั้วการเมือง ถึงแม้ตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่นจะไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะถูกเชื่อมโยงถึงการเมืองระดับชาติที่ต้องได้ถูกตรวจสอบการทำหน้าที่ไปด้วย
สำหรับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับได้เปิดทางให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งยึดโยงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 254 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อกัน เพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ”
เมื่อตรวจสอบกลไกที่ถูกเขียนไว้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ แบ่งเป็น 1. ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ... ถูกปรับปรุงมาจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ.2542 (http://www.thamaicity.go.th/news/doc_download/a_221215_021045.pdf) โดยมีสาระสำคัญ
1.ลดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัตท้องถิ่นให้เหลือไม่น้อยกว่า 5 พันคน หรือ “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5” ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เมื่อจำนวนการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติพบว่า แตกต่างจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ต้อง “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน อปท.
2.ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นจำนวนไม่เกิน 10 คน สามารถร้องขอให้ อปท.จัดทำร่างข้อบัญญัติหรือเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อหรือให้ดำเนินการได้
- กลไกร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ... ได้ปรับปรุง “วิธีการ” เข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับมาตรา 254 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีขั้นตอนการ “ถอดถอน” ง่ายกว่าเดิมใน 3 กลไกสำคัญ
1.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกฯ แค่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเข้าชื่อรวมกัน “เกินกึ่งหนึ่ง” ของจำนวน “ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” เท่านั้น ซึ่งการเข้าชื่อถอดถอนโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องเข้าชื่อรวมกันไม่น้อยกว่า 5 พันคนคนหรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามที่กฎกระทรวงกำหนด
2.ต้อง “กำหนดพฤติการณ์” สมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ผู้ใดที่เป็นเหตุให้ถูกเข้าชื่อเพื่อถอดถอนจากตำแหน่ง อาทิ กระทำส่อไปในทางทุจริต หรือมีประพฤติทำให้เกิดความเสื่อมเสียในท้องถิ่น
3.ในขั้นตอนการลงชื่อถอดถอนยังกำหนด “ฐานความผิด” ผู้ที่ปลอมลายมือชื่อ ผู้ที่ให้-รับเงิน รับทรัพย์สิน เพื่อให้ร่วมเข้าชื่อหรือไม่ให้เข้าชื่อเพื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นนั้นเป็นเวลาตั้งแต่ 10-20 ปี
ชำนาญ จันทร์เรือง อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาเรื่องการถ่ายโอนทางหลวงชนบทให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร มองถึงร่าง พ.ร.บ.ท้องถิ่นทั้ง 2 ฉบับว่า เป็นหลักการที่รองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนที่เลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นได้ ก็ต้องถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้เช่นกัน เพราะตามหลักประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้งอย่างเดียว เพราะประชาชนยังสามารถมอนิเตอร์การทำงานของผู้บริหารท้องถิ่นได้
“เมื่อการถอดถอนต้องที่ทำให้ง่ายขึ้น ซึ่งด้านหนึ่งจะเป็นประโยชน์กับอำนาจส่วนกลางที่จะตรวจสอบการทำงานของ อปท.ทุกระดับไป แต่ต้องไปดูการจัดใน พ.ร.บ.ท้องถิ่นของแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1.องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) 2.เทศบาล 3.องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 4.พัทยา 5.กรุงเทพมหานคร ถึงแม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่มีหลักการใหญ่ที่เหมือนกัน”
“ชำนาญ” ยืนยันว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นการเสริมการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็งข้ึน เป็นการเพิ่มกำลังของประชาชนในการต่อรอง หากพบว่าผู้บริหารท้องถิ่นใดทำหน้าที่ไม่ได้อาจจะถูกปลดได้ รวมถึงการตรวจสอบความโปร่งใส เพราะต่อไป อปท.ต้องเป็น Open Government หรือ “รัฐเปิด” ไม่นั้นคุณอาจจะถูกถอดถอนได้ แต่มีหลักการหนึ่งที่ควรเพิ่มเข้าไปในขี้นตอนถอดถอน ควรใช้รูปแบบอภิปรายไม่ไว้วางใจคือใน 1 ปีสามารถยื่นถอดถอนได้เพียงครั้งเดียว เพื่อไม่ให้มีกระบวนการถอดถอนที่พร่ำเพรื่อ ดังนั้นหากร่างกฎหมายฉบับนี้เข้ามาในสภา แล้วหากตนได้มีโอกาสเป็นกรรมาธิการจะมีข้อเสนอประเด็นนี้เข้าไป
เมื่อถามถึงความจำเป็นที่กฎหมายฉบับนี้ต้องประกาศใช้ก่อนมีการเลือกตั้งท้องถิ่น “ชำนาญ” มั่นใจว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะเกิดขึ้นภายหลังการมีเลือกตั้งท้องถิ่นแน่นอน เพราะจากที่คาดการณ์ว่าในเดือน ธ.ค.นี้จะต้องมีเลือกตั้งนายก อบจ.เกิดขึ้นก่อน โดยพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือในขั้นตอนทางธุรการเชื่อว่าการเลือกตั้ง นายก อบจ.ต้องมีขึ้นในเดือน ธ.ค.นี้ เพราะไม่เช่นนั้นต้องไปจำนวนประชากรที่ใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในปี 2564 ซึ่งสิ้นสุด 31 ธ.ค.ของทุกปี
“หากไม่มีการเลือกตั้งภายในปี 2563 จะต้องไปสำรวจจำนวนประชากรใหม่ และแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นไปไม่ได้จะไม่มีเลือกตั้ง นายกอบจ.ในปีนี้ เพราะหากถูกเลื่อนไปในปี 2564 ทำให้กว่าจะสำรวจจำนวนประชากรจะเสร็จใน 3-4 เดือนของต้นปีหน้า ทำให้การเลือกตั้ง นายกอบจ.จะรอนานเกินไป”
ส่วนจะมีกฎหมายฉบับใดเพิ่มเติมเพื่อเสริมความแข็งแรงให้ภาคประชาชนหรือไม่ “ชำนาญ” บอกว่า จริงๆ แล้วขณะนี้มีกฎหมายที่พยายามทำอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการจังหวัดจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำรายงานผลศึกษา เพื่อเตรียมเสนอเข้าสภาเพื่อบัญญัติเป็นกฎหมาย โดยเนื้อหาร่างกฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มความเข็มแข็งให้ภาคประชาชน ในรูปแบบการมีสภาพลเมืองต่อไป