ตำรวจแจง 'ปักหมุดคณะราษฎร' สนามหลวง มีความผิด
ตำรวจแจง ปักหมุดคณะราษฎร สนามหลวง มีความผิดทางกฎหมาย โยนให้ "กรุงเทพมหานคร-กระทรวงศึกษาธิการ" รับผิดชอบพื้นที่หารือกัน หากพิจารณาแล้วไม่มีความจำเป็นต้องนำหมุดออกจากพื้นที่ ส่วนการเอาผิดผู้ชุมนุมขอตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิดก่อน
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 20 กันยายน พลตำรวจตรี ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และพันตำรวจเอก กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานการชุมนุม ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล
พันตำรวจเอก กฤษณะ กล่าวว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ตำรวจมีการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม #19กันยา ตลอดจนมีการรับมอบหนังสือจากทางกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีพลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รับมอบด้วยตัวเองในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ หลังจากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งไม่ใช่ตัวแทนจากสำนักงานองค์คมนตรีตามที่สื่อมวลชนนำเสนอไป สำหรับเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวส่วนตัวแล้วยังไม่ได้ตรวจสอบ
พันตำรวจเอก กฤษณะ กล่าวว่า กรณีที่ พลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) ออกไปรับหนังสือจากแกนนำ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ เมื่อรับหนังสือมาแล้วคงดำเนินการไปตามขั้นตอนธุรการ ประมวลผลตามลำดับชั้นไปที่ ตร. และส่งไปยังหน่วยงานรับหนังสือต่อไป ส่วนระยะเวลาดำเนินการจะทำอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ผบช.น. ไม่ใช่ตัวแทนสำนักงานองคมนตรีแต่อย่างใด สำหรับเหตุการณ์เมื่อช่วงเช้าเป็นสิ่งที่ตำรวจอยากให้เกิดขึ้น คือมีการเจรจาต่อรอง ในกลุ่มผู้ชุมนุมเองก็คงมีความสบายใจที่ไม่ต้องชุมนุมต่อเนื่อง
ด้าน พลตำรวจตรี ปิยะ กล่าวว่า ตำรวจจะเปิดการจราจรโดยรอบ และขนย้ายแบริเออร์ รั้วลวดหนาม ออกจากเส้นทางให้เร็วที่สุดไม่เกินช่วงเย็นวันนี้ โดยระหว่างนี้ตำรวจจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยก่อน
สำหรับเมื่อช่วงเช้าที่แกนนำได้เจาะพื้นผิวสนามหลวงเพื่อปักหมุดคณะราษฎร พลตำรวจตรี ปิยะ กล่าวว่า พื้นที่สนามหลวงเป็นโบราณสถาน มี 2 หน่วยงานดูแลคือ กรุงเทพมหานคร และกระทรวงศึกษาธิการ ตำรวจได้ประสานไปยังหน่วยงานดังกล่าวแล้วว่าการกระทำดังกล่าวเข้าองค์ประกอบความผิดใด แต่หากดูจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นความผิดตามกฎหมาย ถ้าเป็นสิ่งที่เกินมา ไม่มีความจำเป็นในสนามหลวง กทม. คงพิจารณาเอาออก
พลตำรวจตรี ปิยะ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์วันที่ 19-20 กันยายน มีความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ช่วงแรก คือ ออกจากม.ธรรมศาสตร์ เข้าสู่สนามหลวง การชุมนุมโดยไม่แจ้งให้ตำรวจทราบ ถือว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่สอง เมื่อเข้าไปในสนามหลวงแล้ว แต่อยู่จนกระทั่งล่วงเลยการเปิดให้บริการ และความผิด
ส่วนที่สาม การปักหมุด ซึ่งถือเป็นส่วนเกิน และไม่ใช่สิ่งที่พึงมีในท้องสนามหลวง ซึ่งการกระทำผิดทั้งหมดตำรวจได้บันทึกภาพและเสียงไว้พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน
ส่วนการชุมนุมครั้งนี้ จะมีการเอาผิดกับผู้ชุมนุมหรือไม่อย่างไรนั้น พลตำรวจตรีปิยะ ระบุว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการบันทึกภาพหลักฐานชัดเจน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องนำมาพิจารณาจากภาพ ว่าใครทำอะไรผิดบ้าง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ถือเป็นความผิดต่างกรรม ต่างวาระ ทั้งในเรื่องการชุมนุมไม่แจ้งล่วงหน้า การปักหลักค้างคืนเกินเวลาที่กำหนด
ในส่วนแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นเวทีปราศรัย โดยมีถ้อยคำและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เมื่อคืนที่ผ่านมา พลตำรวจตรี ปิยะ กล่าวว่า ขณะนี้ พลตำรวจตรี สุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รอง ผบช.น.) กับทีมพนักงานสอบสวนอีกกว่า 40 คน ได้บันทึกภาพหลักฐานและเสียง ตั้งแต่เริ่มการชุมนุม และการปราศรัย ตลอดจนการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกับฝ่ายกฎหมาย ว่าเข้าข่ายความผิดใดต่อไป
พันตำรวจเอก กฤษณะ กล่าวเสริม กรณีแกนนำนัดชุมนุมอีกครั้งวันที่ 23-24 กันยายน ว่า ตำรวจมีความพร้อมรองรับสถานการณ์ให้เกิดความเหมาะสม เมื่อมีการใช้แผนชุมนุม 63 แล้ว โดยหลักแม้ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้มุ่งจะใช้กำลังกับผู้ชุมนุม เป็นการปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ เอาบทเรียนที่ผ่านมา หลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มาใช้ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีทางออก ภาพที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าคือความสำเร็จของการเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ และเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายอยากเห็น