สแกน 'ข้อหา' แกนนำม็อบ ยิ่งชุมนุม ยิ่งเพิ่มคดี
ภายหลังที่ “สถาพร เที่ยงธรรม” ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร เข้าแจ้งความที่สถานตำรวจนครบาลชนะสงคราม
ในความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 กรณีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดกิจกรรมชุมนุม และปักหมุดคณะราษฎรที่ 2 บริเวณลานปูนที่ท้องสนามหลวง เมื่อเช้าวันที่ 20 ก.ย.2563 ที่ผ่านมา
เมื่อ “สนามหลวง” ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.2520 ซึ่งตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ม.32 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดบุกรุกโบราณสถานหรือทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือ ทําให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ส่วนโทษการบุกรุกและทำลายโบราณสถาน จะถูกจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากโบราณสถานแห่งนั้นเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว
กรณีนี้ กลายเป็นอีกหนึ่งคดีความล่าสุด ที่หน่วยงานเกี่ยวข้องแจ้งความแกนนำการชุมนุม เพื่อเอาผิดฐานกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย หากไล่เรียงคดีความที่เกิดจากการชุมนุมในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมานี้ จะพบว่าตำรวจมีหมายจับแกนนำกลุ่มต่าง ๆ มากกว่า 30 หมาย ตามที่ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เคยแถลงไว้
ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 18 ก.ค. การชุมนุมและปราศรัยที่กองทัพบก วันที่ 20 ก.ค. เพื่อตอบโต้ พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร อดีตโฆษกกองทัพบกว่าการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” การชุมนุม “แฮร์รี พอตเตอร์” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 3 ส.ค. การชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่ มธ. ศูนย์รังสิต วันที่ 10 ส.ค. การชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 16 ส.ค.
โดยแกนนำส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อหามีความผิดกฏหมายอาญา มาตรา 116 ความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น กระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ความผิด พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ไปจนถึงความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
สำหรับแกนนำผู้ชุมนุมหลายคน ต่างมีคดีติดตัวจากกิจกรรมที่จัดขึ้น อาทิ คดีของนายอานนท์ นำภา ทนายความศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีมาตรา 116 จากการทำกิจกรรมปราศรัยทางการเมืองที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2563 รวมถึงคดีที่ร่วมชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตวันที่ 10 ส.ค.2563 และคดีร่วมชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกวันที่ 18 ก.ค.2563
คดีของแกนนำแต่ละกลุ่ม ได้แก่ นักศึกษาธรรมศาสตร์ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน
น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธาน สนท. น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล" โฆษก สนท.
นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง กลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี กลุ่มเลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก สมาชิกกลุ่มประชาชนปลดแอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.สิรินทร์ มุ่งเจริญ กลุ่มสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่ม Spring Movement ของ จุฬาฯ นักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
นายบารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการสมัชชาคนจน นางสุวรรณา ตาลเหล็ก แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นายกรกช แสงเย็นพันธ์ แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยนายบารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการสมัชชาคนจน ทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้ต้องหาส่วนหนึ่ง ตามหมายจับศาลอาญาความผิดตามมาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมกับเยาวชนปลดแอก ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2563
ขณะเดียวกันนายพริษฐ์ ยังมีคดีการชุมนุมที่หน้ากองทัพบกเมื่อ 20 ก.ค.2563 นายภาณุพงศ์ ก็มีคดีขึ้นเวทีปราศรัยที่การชุมนุม“ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 คดีนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่งจะเป็นแกนนำจัดชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 24 ก.ย.ที่รัฐสภา ยังเป็นหนึ่งแกนนำที่มีคดีติดตัวรวมอยู่ด้วย จากการเป็นผู้จัดการชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2563
ที่สำคัญเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้อง กรณี นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลวินิจฉัย ว่าการชุมนุมและการปราศรัย ในช่วงเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา จำนวน 6 ครั้ง ได้แก่วันที่ 3, 9,10,20, 21,30 ส.ค.63 เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่ โดยมีชื่อแกนนำเข้าข่ายกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ดังนี้ นายอานนท์ นายภานุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา จากการปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63
คดีเพิ่มล่าสุด นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เข้าแจ้งความตำรวจ สน.ชนะสงคราม ให้ดำเนินคดี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง นายอานนท์ และนายพริษฐ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในความผิดตามกฎหมายอาญา ม.112 กรณีการปราศรัยบนเวทีชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 19 ก.ย.2563
เมื่อรวบรวมคดีต่างๆ ที่บรรดาแกนนำม็อบ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามความผิดล่าสุดมีดังนี้ 1.ความผิดอาญาตามมาตรา 116 ทำให้เกิดความปั่นป่วน ก่อความไม่สงบฯ 2.ความผิดตามรัฐธรามนูญมาตรา 49 จัดชุมนุมปราศรัยเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง 3.ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 4.ความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 5.ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ 6. ความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด
7.ความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 8. ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
9. ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร 10. ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ พ.ศ.2504 และล่าสุดตำรวจเตรียมพิจารณาแจ้งข้อหาความผิดตามกฎหมายอาญา ม.112
แม้ว่าแกนนำผู้ชุมนุมกว่า 30 คน จะถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการชุมนุมเวทีต่างๆ แต่ทั้งหมดยังประกาศนำหน้าต่อ ไม่ว่าคดีจะเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่