แจงปมทุจริต ชะลอเบิกจ่ายเงินซื้อรถซ่อมทาง หลัง 'ป.ป.ช.' ชี้มูล
"นิพนธ์" โต้ทุจริตแจงเหตุชะลอเบิกจ่ายเงินซื้อรถซ่อมทางให้เอกชน หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูล ยันถูกร้องเรียนทุจริต-ปลอมแปลงเอกสาร ชี้สัญญาเกิดก่อนรับตำแหน่ง นายก อบจ.สงขลาปี 56
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มีการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิได้อนุมัติเงินงบประมาณเบิกจ่ายเงินให้บริษัทแก่บริษัทเอกชน เป็นเงินทั้งสิ้น 50,850,000 บาท นั้นเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2556 ก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา มีการประกาศจัดหารถซ่อมทางวงเงิน 52 ล้านบาท ซึ่งการประมูลดังกล่าวมีผู้ยื่นประมูล 2 ราย ได้แก่ บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ยื่นประมูล 50,850,000 บาท และบริษัท เอส พี เค ออโต้เทคจำกัด ยื่นประมูล 50,900,000 บาท
"ผลปรากฏว่า บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคาที่ต่ำกว่า 50,000 บาท โดยในขณะนั้นได้รับข้อมูลร้องเรียนว่าทั้ง 2 บริษัทมีการทุจริตและต่อมายังตรวจสอบได้ว่าบริษัททั้งสองมีการปลอมแปลงเอกสารเพื่อยื่นประมูลงานอีกด้วย"นายนิพนธ์ ระบุ
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ต่อมาวันที่ 31 พ.ค.2556 ก่อนตนรับตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา นายก อบจ.สงขลาในขณะนั้น ได้ลงนามในสัญญาซื้อรถซ่อมทางเอนกประสงค์ กับบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด โดยกำหนดส่งมอบรถภายใน 180 วัน และวันที่ 7 มิ.ย.2556 ก่อนตนรับตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา หลังจากลงนามสัญญาซื้อรถซ่อมทางเอนกประสงค์ได้เพียง 7 วัน นายกอบจ.สงขลา ในขณะนั้นประกาศลาออกจากตำแหน่ง จากนั้นวันที่ 4 ส.ค.2556 มีการจัดการเลือกตั้ง นายก อบจ.สงขลา ขึ้นใหม่ ผลปรากฏว่า ตนได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา คนใหม่และเข้าปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 28 ส.ค.2556
ต่อมาวันที่ 8 ต.ค.2556 บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ส่งมอบรถซ่อมทางเอนกประสงค์ ตามสัญญากับ อบจ.สงขลา โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ อบจ.สงขลา ได้ทดสอบและตรวจรับรถซ่อมทางเอนกประสงค์ในวันที่ 9 ต.ค.2556 ซึ่งการทดสอบนั้นเป็นการทดสอบระบบต่างๆ ของรถว่าใช้งานได้จริงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ และใช้ระยะเวลากว่า 90 วัน กองช่างจึงได้รายงานผลการทดสอบในวันที่ 9 ม.ค.2557
ในวันที่ 21 พ.ย.2556 ระหว่างที่ผลการทดสอบตรวจรับรถยังไม่เสร็จสิ้น บริษัท ไทยวินเนอร์ ทรัค จำกัด ได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 15 ป.ป.ช และตน ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ถึงความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อว่า มีการฮั้วประมูลและล็อกสเปค ทำให้ตนที่เพิ่งรับตำแหน่งนายกอบจ.สงขลา คนใหม่ และไม่ทราบถึงรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างรถซ่อมทางเอนกประสงค์ดังกล่าวมาก่อน และเป็นการดำเนินการก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่งอีกด้วย
จึงจำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าการจัดซื้อรถดังกล่าวที่ผ่านมานั้นถูกต้องตามระเบียบและตามข้อร้องเรียนหรือไม่เพื่อไม่ให้ทางราชการเสียหายและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง อบจ.สงขลาได้มีการจัดซื้อรถดังกล่าวไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 1 คัน และครั้งนี้เป็นการจัดซื้ออีกเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 1 ปีอีกจำนวน 2คัน รวมเป็น 4 คัน
วันที่ 7 ม.ค.2557 รองผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้มีหนังสือถึงตนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องที่ บริษัท ไทยวินเนอร์ ทรัค จำกัด ได้ทำการร้องเรียนปัญหาดังกล่าว โดยตนในฐานะที่บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาในตำแหน่งนายกอบจ.สงขลา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายร้องเรียนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อราชการ
วันที่ 5 มิ.ย.2557 ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีหนังสือถึงอบจ.สงขลา ขอให้ชำระเงินให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด แต่ในขณะเดียวกันให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใส ในการประกวดราคาซื้อรถครั้งนี้ด้วย โดยตนพิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นเพื่อเป็นประโยชน์แก่ทางราชการและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายควรรอผลตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะมีการชำระเงินให้แก่ บริษัท พลวิศว์ เพค พลัส จำกัด และหากอนุมัติให้จ่ายเงินไป โดยที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกวดราคาและจัดซื้อยังไม่เสร็จสิ้น และหากภายหลังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเห็นว่าการจัดซื้อไม่ชอบ และการประมูลจัดซื้อตกเป็นโมฆะ จะทำให้รัฐเสียหายเป็นเงินจำนวนมากยากที่จะเรียกเงินคืน เพราะ บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด มีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น
"หากอนุมัติให้จ่ายเงินไป ผมอาจถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้ ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายและรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ การจ่ายเงินควรดำเนินการภายหลังผลสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าการประมูลจัดซื้อได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง ตามระเบียบและกฎหมายหรือไม่เสียก่อน"นายนนิพนธ์ ระบุ
นายนิพนธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2557 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงว่า การประมูลซื้อไม่เป็นไปตามคุณลักษณะเฉพาะตามที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลากำหนด การที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า การประกวดราคาและการจัดซื้อรถ มีเจตนาไม่สุจริต เป็นการสมยอมกันในการเสนอราคาทำให้การแข่งขันกันอย่างไม่เป็นธรรมนั้น ผลก็คือการประกวดราคาและการจัดซื้อรถจึงตกเป็นโมฆะ ซึ่ง อบจ.สงขลา ได้นำผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายงานให้ศาลปกครองพิจารณาแล้ว อีกทั้ง อบจ.สงขลาได้นำผลรายงานการสอบสวนดังกล่าวให้ จังหวัดสงขลาผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 15 และ ป.ปช ทราบแล้ว
"นอกจากนี้ ยังปรากฎหลักฐานจากต่างประเทศหลายแห่ง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย หลักฐานจากนอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เป็นต้น ที่รับรองไว้แล้วว่า บริษัทคู่เทียบเอกชนในการจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ดังกล่าว ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง และจากกรณีปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ก็ได้มีการไปแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาไว้แล้ว" นายนิพนธ์กล่าว