'ก้าวไกล' อัด ไม่จริงใจแก้ปัญหาหลังนายกฯเมินเลิกระบบเกณฑ์ทหาร
'ก้าวไกล' อัด นายกฯเมินเลิกระบบเกณฑ์ทหาร ไม่จริงใจแก้ปัญหาสวัสดิการทหารระยะยาว
ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไม่ให้คำรับรองต่อร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร (ฉบับที่..) พ.ศ. ... โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 33 ของรัฐธรรมนูญ ว่า จากเหตุนี้ทำให้โอกาสที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณายกเลิกการเกณฑ์ทหาร แล้วเปลี่ยนเป็นระบบอาสาสมัครไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเงิน สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เพราะเราได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารและได้สร้างระบบอาสาสมัคร ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินเดือนและสวัสดิการของกำลังพล ซึ่งเรามีความตั้งใจว่าเงินเดือนและสวัสดิการของทหารจะต้องมากเพียงพอให้สมศักดิ์ศรีกับผู้ที่เข้ามารับใช้เป็นทหารในอนาคต ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ร่างกฏหมายนี้จะเกี่ยวข้องกับการเงิน และอาศัยคำรับรองของนายกรัฐมนตรี
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า เมื่อนายกฯไม่ยอมให้คำรับรอง ตนคิดว่ามีปัญหาที่เกิดขึ้น 3 ประการ ในแง่มุมทางด้านกฎหมายปัญหา ข้อที่ 1 ตามมาตรา 33 จุดมุ่งหมายเพื่อให้อำนาจนายกฯพิจารณาว่าร่างกฎหมายที่พิจารณาโดย สส. กระทบต่อการเงินการคลังอย่างไร เพราะนายกฯทราบถึงสถานะการเงินการคลังดีกว่าใคร ถ้าเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องในฐานะการคลัง นายกฯก็ไม่ต้องให้คำรับรองได้ แต่กรณีร่างกฏหมายยกเลิกเกณฑ์ทหาร นำมาสู่ปัญหาข้อที่ 2 คือตามหนังสือที่ส่งกลับมาให้ตนไม่ปรากฏเหตุผลว่าทำไมถึงไม่รับรอง ในมุมมองของพรรคก้าวไกลเรามีความเห็นว่าร่างกฏหมายนี้มีการกระทบการเงินการคลังที่เป็นบวก ทำให้การเงินการคลังของประเทศดีขึ้น เนื่องจากได้ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และนำเงินที่เหลือไปสร้างระบบอาสาสมัคร
“สาม จะเป็นการตัดโอกาสให้สภาฯพิจารณาเนื้อหาสาระของกฎหมายแน่นอน สำหรับพรรคของเรา เราไม่ใช่รัฐบาลโดยทั่วไปผู้ที่ผลักดันกฎหมายต่างๆ จะเห็นว่าเป็นรัฐบาลมีความสำคัญต่อการผลักดันกฎหมาย แต่ความจริงไม่ใช่หน้าที่ของสส.ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น เราในฐานะสส. แม้จะไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลก็มีสิทธิ์เสนอกฏหมายเช่นกัน พี่น้องเลือกเรามา และเราก็มีนโยบายเรื่องนี้ ประชาชน 6.3 ล้านคนที่เลือกเรา ถือว่าไม่น้อย เขาคาดหวังกับเรื่องนี้” นายรังสิมันต์ กล่าว
ด้าน นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องยอมรับให้ได้ว่าวันนี้มีทั้งคนอยากเป็น และไม่อยากเป็นทหาร ซึ่งทั้งสองกลุ่มต่างใช้เงินก้อนโตเพื่อให้ได้ตามประสงค์ แต่ถามว่าท่านจะไม่ปรับเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอะไรเลยใช่หรือไม่ เราก็ต้องอยู่ในสังคมที่ต้องใช้เงินทั้งที่อยากเป็นหรือไม่อยากเป็นใช่หรือไม่ ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ เสียชีวิตของพลทหาร พิชวัฒน์ เวียงนนท์ สังกัดมณฑลทหารบกที่ 27 จ.ร้อยเอ็ด ที่ได้ผูกคอตายในค่ายทหาร เมื่อ 6 พ.ย.63 ถือเป็นครั้งแรกในยุคของพล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมพรรคและหากเป็นไปได้จะตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง