'คำนูณ' สงสัย 'ไอลอว์' เสนอร่างแก้รธน.นิรโทษกรรมคดีทุจริต
'คำนูณ' สงสัย 'ไอลอว์' เสนอร่างแก้รธน.นิรโทษกรรมคดีทุจริต ชี้ สร้างสุญญากาศปราบโกงร่วมปี ประกาศชัดเจนรับไม่ได้
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ โดยระบุว่า ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชนเข้าชื่อ หรือที่เรียกกันว่า ‘ร่าง iLaw’ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเป็นร่างที่ 7 ในวันที่ 17 - 18 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ส่วนตัวขอสรุปหลักการ 10 ประเด็น ที่ร่าง 7 เสนอแก้ไข ดังนี้ 1. ให้ส.ว.ชุดบทเฉพาะกาลปัจจุบัน 250 คนพ้นตำแหน่งทันที และเลือกตั้งส.ว.ชุดใหม่ขึ้นมาแทนที่ 200 คน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2540 2. ยกเลิกอำนาจส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขให้นายกรัฐมนตรีมาจากส.ส.เท่านั้น 3. ยกเลิกอำนาจส.ว.ในการติดตามเสนอแนะเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตั้งแต่ต้นในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา รวมทั้งตัดอำนาจในการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายบางประเภทที่สภายับยั้งไว้ 4. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 5. ยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศ
6. บัญญัติให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) รวม 7 ฉบับสิ้นผลไป กล่าวคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา, พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ, พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง,พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน, พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต, พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน, พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 7. ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกองค์กรชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง และให้สรรหาใหม่ทั้งหมดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2540 แม้จะให้ผู้ที่พ้นตำแหน่งรักษาการไปก่อน แต่กฎหมายที่ระบุอำนาจหน้าที่นั้นสิ้นผลไปแล้วตามประเด็นที่ 6
8. ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประกาศ คำสั่ง และการกระทำทั้งมวลของคสช. 9. กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นทุกรูปแบบต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น 10. ตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ไม่ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 โดยเสนอนวัตกรรมการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่อย่างน่าสนใจ คือสมัครเป็นบุคคลก็ได้ สมัครเป็นทีมก็ได้ โดยให้มีการแถลงนโยบาย กำหนดให้ใช้รูปแบบรวมเขต-เขตใหญ่ คือใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครส.ส.ร.ไว้อย่างเปิดกว้างมาก แม้แต่พระภิกษุสามเณรนักพรตนักบวช คนวิกลจริต หรือผู้ติดยาเสพติด ก็ไม่อยู่ในข่ายต้องห้าม ไม่ต้องพูดถึงผู้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง
ต่อมา ผมจะตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่าหลักการในบางประเด็นเป็นเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลกระทบอย่างไร โดยจะขอกล่าวถึงเฉพาะประเด็นที่ 6 - 7
ประการที่หนึ่ง - นิรโทษคดีทุจริต ? หลักการประเด็นที่ 6 - 7 จะมีผลต่อกระบวนการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคดีทุจริตประพฤติมิชอบอื่น ๆ แน่นอน เพราะการไปกำหนดให้พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เป็นฐานกำหนดความผิดโดยตรงมีอันสิ้นผลไป หรือพูดง่าย ๆ ว่ายกเลิกนั้น จะมีผลเสมือนเป็นการนิรโทษกรรมคดีทุจริตในทางปฏิบัติ ตามหลักกฎหมายอาญาที่ว่ากฎหมายมีผลย้อนหลังได้หากเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด ตามที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับวางบรรทัดฐานไว้
ผู้ใดต้องโทษจำคุกตามพ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตอยู่ ก็จะยื่นคำร้องให้ศาลออกหมายปล่อยตัว ผู้ใดอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี ก็จะใช้เป็นข้อต่อสู้เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่หนีคดีอยู่ ก็เป็นการเพิ่มน้ำหนักในการหาทางกลับบ้านได้เท่ ๆ เช่นกัน ผลข้างเคียงที่เป็นเสมือนการนิรโทษคดีทุจริตต่อบุคคลที่ได้รับผลดีนี้จะคงอยู่ตลอดไป ต่อให้ในอนาคตมีการตราพ.ร.ป.กำหนดฐานความผิดเดิมขึ้นมาใหม่ ก็จะไปเข้าหลักกฎหมายอาญาทั่วไปอีกด้านหนึ่งที่ว่ากฎหมายที่ออกมาใหม่หากเป็นโทษกับบุคคลไม่สามารถใช้บังคับย้อนหลังได้
ประการที่สอง - ประเทศจะตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศไม่มีกฎหมายและกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างน้อย 5 - 6 เดือน หลักการประเด็นที่ 1, 6 และ 7 จะทำให้หากร่าง 7 นี้มีผลใช้บังคับเมื่อใด ส.ว.ชุดปัจจุบันจะพ้นตำแหน่งทันที พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการทุจริต และพ.ร.ป.ฉบับอื่น ถูกบัญญัติให้เป็นอันสิ้นผลไป กรรมการป.ป.ช.และกรรมการองค์กรอิสระทุกองค์กรรวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันพ้นตำแหน่งทันที แม้จะให้อยู่รักษาการต่อไปก่อน แต่กฎหมายให้อำนาจสิ้นผลไปแล้ว ซึ่งกว่าจะได้ส.ว.ชุดใหม่จากการเลือกตั้งต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 60 วัน ต่อด้วยเริ่มกระบวนสรรหากรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามแนวทางรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งต้องให้ส.ว.ตัดสินใจเลือกในขั้นสุดท้าย ต้องบวกเวลาเข้าไปอย่างเร็วที่สุดอีก 30 วัน มิหนำซ้ำยังต้องยกร่างพ.ร.ป.ที่ถูกยกเลิกไปขึ้นมาใหม่ ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 90 วัน
ทำไมต้องทิ้งให้บ้านเมืองตกอยู่ในสุญญากาศไร้กฎหมายและกลไกการปราบทุจริตถึงอย่างน้อย 5 - 6 เดือนเต็ม พยายามอ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาในส่วน ‘หลักการ’ และ ‘เหตุผล’ ของร่าง 7 และเอกสารแนบชุด ‘คำอธิบายรายมาตรา’ ไม่พบข้อความใดที่อธิบายหลักคิดในการให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปทั้ง 7 ฉบับ
เมื่อพิจารณาภาพรวมของทั้งร่างแล้ว ไม่อาจปลงใจให้โหวตรับหลักการร่าง 7 ได้ โดยเฉพาะผลข้างเคียงเบิ้ม ๆ จากประเด็นที่ 6 และ 7 ที่เป็นเสมือนการนิรโทษคดีทุจริตและปล่อยให้บ้านเมืองตกอยู่ในสุญญากาศไร้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตครึ่งค่อนปี
ขอย้ำว่า ผมเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และจะโหวตเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับแน่นอน แต่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายที่เสมือนเป็นการนิรโทษคดีทุจริต และยิ่งไม่เห็นด้วยกับการทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในสุญญากาศไร้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตครึ่งค่อนปี