การเมือง
"กมธ.ซีพีทีพีพี สภาฯ" แนะ "รัฐบาล" เร่งเตรียมพร้อมร่วม CPTTP ทุกด้าน-หวั่นเสียเปรียบ
กมธ.ซีพีทีพีพี สภาฯ เสนอรายงานผลการศึกษา ชี้รัฐบาลไทยขาดความพร้อม หวั่นเสียเปรียบ ทั้งด้านเกษตร, สาธารณสุข, ระบบการค้า
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ที่มีนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.ได้พิจารณาเสร็จแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสาระสำคัญของรายงานฉบับดังกล่าว โดยในด้านเกษตรกรรม บทสรุปของกมธ.ฯ เห็นว่า ประเทศไทยไม่พร้อมต่อการเจรจาจาข้อตกลงซีพีทีพีพี เนื่องจากรัฐบาลไม่จริงใจจัดสรรงบประมาณ บุคลากรที่ระบุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม( เอสเอ็มอี) อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะปี 2564 งบวิจัยตั้ง 1,447 ล้านบาท แต่ได้รับเพียง 129 ล้านบาท หรือไม่ถึง 1% ของงบทั้งประเทศ ทำให้การวิจัย และพัฒนาพันธุ์พืชล้าหลัง ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ให้เร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตร โดยเฉพาะกฎหมาย ที่กำหนดให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่สำคัญด้านอาหารไว้ปลูกเองได้, เพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัย และพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อรองรับผลกระทบ หรือเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร เป็นต้น นอกจากนั้นรัฐบาลควรจัดตั้งศูนย์ร้องเรียนและกองทุนช่วยเหลือเยียวยาหากเกษตรกรได้รับผลกระทบ รวมถึงสร้างความรับรู้ความเข้าใจ และให้เวลาต่อการปรับตัวอย่างน้อย 3-5 ปี เพื่อให้พร้อมต่อการทำสัญญาการค้าระหว่างประเทศซีพีทีพีพี ในอนาคต
ขณะในด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั้น กมธ.มีบทสรุปว่าซีพีทีพีพี ไม่ใช่ข้อตกลงเพื่อประโยชน์ทางสาธารณสุข เพราะจะสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของไทย เนื่องจากการเข้าสู่เวทีซีพีทีพีพี คือการเปิดพื้นที่ให้ต่างชาติเข้าประกอบสถานพยาบาลในเชิงพาณิชย์ ราคายาเพิ่มสูงขึ้น ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น ขณะที่ระบบพยาบาลของไทยที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐอาาจต้องซื้อยาที่แพงขึ้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีการสำรวจว่าระบบสาธารณสุขของไทยจะมีผลกระทบเป็นมูลค่าเท่าใดเมื่อเข้าสู่เวทีซีพีทีพีพี
ทั้งนี้กมธ. ได้ศึกษาถึงอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ด้วยว่า รัฐบาลไทยยังอ่อนด้อยต่อการกำหนดประเด็นเจรจาอุปสรรคเชิงเทคนิคของประเทศ และยังไม่เคยหารือกับภาคเอกชน โดยบทสรุปต่อข้อเสนอถึงรัฐบาลด้วยว่า รัฐบาลต้องปรับตัว ปรับโครงสร้างภายใน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขยะอิเล็คทรอนิกส์ รวมถึงจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับภาระกิจ เพื่อให้สามารถเดินเข้าสู่การเจรจาแบบพหุภาคีอย่างมีประโยชน์สูงสุด นอกจากนั้นเสนอให้รัฐบาลไทยตั้งทีมทำงานเพื่อตรวจสอบรายละเอียดของกรอบเจรจา รายละเอียดที่เกี่ยวข้องของการเข้าร่วมซีพีทีพีพี รวมถึงทำความเข้าใจร่วมกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนที่มีผลกระทบบนพื้นฐานของเหตุผลและผลประโยชน์ของชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการอภิปรายของส.ส.นั้น สนับสนุนต่อรายงานถึงการเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเจรจาการค้าซีพีทีพีพี ที่อนาคตเชื่อว่าประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมได้ โดยต้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร, ภาคเกษตรกรรม ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ประชาชนและประเทศเสียผลประโยชน์.