เรามาสมานฉันท์ เพื่อประเทศชาติ
"เส้นทางสมานฉันท์" นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้น และเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในระบอบประชาธิปไตย ที่ปัญหาการเมืองต้องแก้ในรัฐสภาและมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยความหลากหลายของมุมมอง คือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ
เส้นทางสมานฉันท์ นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง แม้สถานการณ์ข้างนอกจะเร้าร้อนพอสมควรก็ตาม เพราะล่าสุด ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พร้อมด้วยพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล แถลงภายหลังการหารือร่วม 3 ฝ่าย ในการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่น่าสนใจอีกขั้นตรงที่โครงสร้างออกมาชัดเจนแล้วว่าองค์ประกอบของกรรมการให้มีกรรมการทั้งสิ้น 21 คน
ดังนี้ 1.ผู้แทนฝ่ายผู้ชุมนุม 2 คน (กลุ่มเรียกร้องเห็นต่างกับรัฐบาล) 2.ผู้แทนรัฐบาล 2 คน 3.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน 4.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน 5.ผู้แทนสมาชิกวุฒิสภา 2 คน 6.ผู้แทนฝ่ายที่มีความเห็นอื่น 2 คน (กลุ่มเรียกร้องเห็นด้วยกับรัฐบาล) 7.ผู้ทรงคุณวุฒิ การออกมาแถลงดังกล่าวของหน่วยงานด้านรัฐสภา เพื่อตอกย้ำว่าทางออกของวิกฤติการเมืองที่ดีที่สุดคือระบบรัฐสภาและคณะกรรมการสมานฉันท์คือคือคำตอบ
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน กรุงเทพธุรกิจ ได้สำรวจ 200 ซีอีโอ เห็นตรงกันว่าปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ขัดแย้งทางสังคมปัจจุบันนั้น แต่ละฝ่ายต้องเลือกที่จะถอยกันคนละก้าว ไม่ใช้ความรุนแรง แม้ว่าส่าวนใหญ่ยังไม่มั่นใจกับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ตาม เพราะหัวใจความสำเร็จอยู่ที่บุคคลที่น่าเชื่อถึอ เข้ามาร่วมในองค์ประกอบ
แต่เราก็เชื่อว่า แนวทางนี้คือคำตอบ แม้จะเป็นความท้าทาย แต่เป็นทางเลือกที่เหมาะสมในระบอบประชาธิปไตย ที่ปัญหาการเมืองต้องแก้ในรัฐสภา และการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรสนับสนุน แทนที่จะให้ 2 กลุ่มก้อนความคิดไปปะทะกันบ้านท้องถนน เนื่องจากเหตุการณ์หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ส่งสัญญาณอันตรายให้เราเห็นแล้วว่า ความรุนแรงเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากเราไม่เร่งกลุ่มความขัดแย้งต่างเข้ามาสู่กระบวนการสมานฉันท์
เส้นทางสมานฉันท์ คือคำตอบ และเราเชื่อว่าทุกฝ่ายหวังดีกับประเทศชาติ ดังนั้นเมื่อเรามีจุดหมายเดียวกัน จำเป็นต้องหันมาฟังเสียงของอีกฝ่ายบ้าง เพราะปัญหาของประเทศชาตินั้น คำตอบมิอาจมาจากความคิดส่วนใดส่วนหนึ่ง บริบทประเทศเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ความคิด โจทย์ หรือคำตอบความสำเร็จแบบเดิม อาจมิใช้คำตอบหรือความสำเร็จสำหรับวันนี้ หรืออนาคต
ความหลากหลายของมุมมอง คือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ เพราะหากปล่อยไปเช่นนี้ ไม่เฉพาะสูญเสียทางสังคม เลือดเนื้อ ชีวิต การพัฒนาด้านเศรษฐกิจจะถอยหลัง ถดถอยอีกครั้ง เพราะเมื่อเราถาม 200 ซีอีโอกว่า 57% มองการชุมนุมทางการเมืองจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ขาดความมั่นใจในการลงทุน การทำธุรกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น คณะกรรมการสมานฉันท์ จริงอยู่เป็นความท้าทาย แต่หากคนสังคมเห็นตรงกันว่าคือคำตอบ ขอให้เราศรัทธาและเคลื่อนไปด้วยกัน