ถอดบทเรียน"บิ๊กเมาน์เท่น" เข้มมาตรการ-การ์ดสูงทุก“อีเวนท์”
กรณีบิ๊กเมาน์เท่นจากการประเมินพบว่า มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นพรวด เพราะจากภาพที่ปรากฏพบว่าตอนเข้างานมีการสวมหน้ากากก็จริง แต่พอเข้าไปในงานแล้วพบว่าสวมหน้ากากไม่ถึง 50%”
ช่วงปลายเดือน พ.ย.2563 ที่ผ่านมา เริ่มมีการพบตัวผู้ติดโควิด-19 หลายราย เกือบทั้งหมดลักลอบเข้าเมืองผ่านเส้นทางธรรมชาติ จาก อ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา มุ่งหน้าเข้ามายัง จ.เชียงราย ทำให้หลายฝ่ายหวั่นวิตกว่า “โควิด-19” จะกลับมาระบาดในประเทศไทยเป็นระลอกที่สองหรือไม่
แต่โควิดนำเข้าผ่านชายแดนครั้งนี้ ได้ส่งผลให้ “หน่วยงานภาครัฐ” ทุกองคพยพต้องขันน็อต ยกการ์ดขึ้นสูงอีกครั้ง แม้นโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม จะเน้นย้ำไม่ให้ ทุกคน-ทุกหน่วยงาน ตื่นตระหนกมากเกินไป เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว แต่สายบังคับบัญชาย่อมรู้ดีว่าถึงเวลาต้อง เข้มงวด-กวดขัน กันอีกรอบ
เอฟเฟคจากงานเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ “บิ๊กเมาน์เท่น” ครั้งที่ 11 ในพื้นที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา “วิเชียร จันทรโณทัย” ผู้ว่าฯนครราชสีมา ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ลงนามในหนังสือคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ให้ปิดสถานที่จัดคอนเสิร์ต สะท้อนให้เห็นความหละหลวมต่อมาตรการคุมกันโรค
แม้ในอีกมิติหนึ่งจะถูกมองว่า เหตุผลของการสั่งปิดมีความเชื่อมโยงกับการเมือง เนื่องจากในคอนเสิร์ตมีการแสดงเสียดสีกระทบชิ่งไปยังรัฐบาล พร้อมการชู 3 นิ้ว ซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุมทางการเมือง
ที่สำคัญมีการนำไปเปรียบเทียบกับการจัดคอนเสิร์ต-การจัดแสดงสินค้า-และกิจกรรมอื่น ที่มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก และมาตรการการควบคุมการแพร่เชื้อมีหลายจุดที่บกพร่องเหมือนกัน แต่จากภาครัฐไม่ได้สั่งปิดกิจกรรมดังกล่าวมาก่อน แต่สั่งปิดคอนเสิร์ตบิ๊กเมาน์เท่น
ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกแอคชั่นเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม “ศบค.ชุดเล็ก” เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและการดำเนินงานของรัฐ
“ขอร้องว่าอย่าทำลายสิ่งที่กำลังดีขึ้นนี้เลย ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเราเจอสิ่งไม่ดีก็ต้องช่วยกันแก้ไข เพราะเป็นอุปสรรคของพวกเราและเป็นความเสี่ยง เราต้องมองในภาพรวมของประเทศ”
สถานการณ์นี้ ทำให้ อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ออกโรงมาเคลียร์ข้อสงสัยเกี่ยวมาตรฐานในการควบคุมอีเวนท์ในลักษณะเดียวกัน ที่ปลายปีและต้นปียังมีงานเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่รอเฉลิมฉลองอยู่
โดยระบุว่า “การจัดกิจกรรมต้องมีการขออนุญาต และเสนอรูปแบบในการจัด โดยผู้ว่าฯจะมีอำนาจในการพิจารณาซึ่งถ้าเข้าเกณฑ์ก็อนุมัติหมดแต่พอได้รับการอนุมัติแล้วไม่ทำตามที่เสนอมา ก็เป็นปัญหาเพราะนี่เป็นสถานการณ์พิเศษ เราไม่ต้องการให้มีการแพร่เชื้อ”
“ยืนยันไม่ได้ห้ามจัดงานในลักษณะนี้ รวมถึงงานเคาท์ดาวน์ ปีใหม่ที่จะถึง ทุกคนยังสามารถจัดงานได้ แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อกำหนด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย มีระยะห่างและการจัดเจลล้างมือบริการ และ ต้องมีการจัดบริการวัดไข้ เพราะการจัดงานในลักษณะนี้ต้องผ่านการขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติ ตามกฎระเบียบ ต้องใช้มาตรการกฎหมายอย่างเคร่งครัด"
ขณะที่ “นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร” ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนกรณีบิ๊กเมาน์เท่นว่า “จากการประเมินพบว่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้นพรวด เพราะจากภาพที่ปรากฏพบว่าตอนเข้างานมีการสวมหน้ากากก็จริง แต่พอเข้าไปในงานแล้วพบว่าสวมหน้ากากไม่ถึง 50%”
“แม้จะเป็นการจัดงานกลางแจ้งที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าการจัดงานในห้องที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก แต่การที่คนจำนวนถึง 3 หมื่นคนมาอยู่ร่วมก็เพิ่มความเสี่ยง โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันแบบแออัดในโซนหน้าเวที ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย และมีการตะโกนร้องเพลง โอกาสที่คนติดโควิด-19 หลุดเข้าไปสัก 1 ราย เข้าไปอยู่ร่วมกันโอกาสแพร่เชื้อไปคนอื่นก็จะมากขึ้น”
ทั้งนี้ก่อนที่จะจัดงานผู้จัดได้มีการเสนอแผนที่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาแล้ว ซึ่งเมื่อถึงวันจัดงานจริงก็สามารถปฏิบัติตามได้ค่อนข้างดี แต่การบริหารความเสี่ยงหน้างาน ทำได้ไม่ดี เช่น ผู้ร่วมงานไม่ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
“หากมีคนติดเชื้อขึ้นมากจริงๆ โดยปกติจะต้องติดตามผู้สัมผัสอีก 20 -40 คน แต่หากเป็นคอนเสิร์ตที่มีคนมาก ผู้ติดเชื้อ 1 รายจะต้องติดตามไปอีกราว 100 คน”
นพ.โสภณ ได้มีคำแนะนำว่า การจัดงานในลักษณะดังกล่าว หากให้ดีที่สุดคือจัดงานขนาดเล็กมีคนร่วมจำนวนไม่มาก หรือถ้ามีคนมากภายในงานควรมีการแบ่งโซน หรือจัดพื้นที่เป็นซอย และพยายามให้กลุ่มเดียวกัน อยู่ในซอยเดียวกันไม่ให้ข้ามโซนหรือซอย เพราะจะเป็นการจำกัดความเสี่ยงไม่ให้กระจาย
“สมมติมีคนร่วม 30,000 คน แต่จัดซอยย่อยๆ ราว 100 คน หากพบผู้ติดเชื้อในซอยไหนก็จะกระจายได้น้อยกว่าการไม่แบ่งซอยย่อย อีกทั้ง ไม่ควรจัดงานในลักษณะที่นำคนจาคนละจังหวัดมารวมกัน เพราะหากมีคนติดเชื้อในงานจะทำให้เพิ่มกระจายออกไปในจังหวัดต่างๆ แต่หากเป็นคนจากพื้นที่หรือจังหวัดเดียวกันก็เท่ากับความเสี่ยงเท่าเดิม”
ทางด้านฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย กำชับให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ให้เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันการแพร่ระบาด โดยให้จังหวัดแจ้งหน่วยปฏิบัติ กลไกผู้ปกครองท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวังและใช้มาตรการทางการข่าว รวมถึงกำหนดให้มีการตั้ง “ด่านคัดกรองโรค” สำหรับบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรการของ สธ.
ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน ต.ค.ซึ่งแต่ละภาคเตรียมจัดกิจกรรมตามวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ของตัวเอง อาทิ ประเพณีเรือยาว เทศกาลกินเจ ประเพณีลอยกระทง และกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีการร่วมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก ทำให้ ศบค.มท.มีหนังสือ “ด่วนที่สุด” ที่ มท0230/ว6074 ไปถึงผู้ว่าฯ กำชับไปถึงผู้จัดงานให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด
ขณะเดียวกัน ศบค.มหาดไทย ได้กำหนดมาตรการการควบคุมกิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ที่จัดจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 และต้นปี 2564 โดยมีคำสั่งไปถึงผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯกทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแต่ละจังหวัด ยึดจากคำสั่งศบค.มท.ฉบับต่างๆ ที่ประกาศออกไปทั้งหมด 276 คำสั่งให้เป็นแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดทั้งหมด ในกิจกรรมที่มีจำนวนคนเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะคำสั่ง “ด่วนที่สุด ”ที่ มท0230/ว7220 ล่าสุดลงวันที่ 2 ธ.ค.2563 ให้จังหวัดและกทม ตรวจกำกับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ตั้งแต่วันที่ 1-31 ธ.ค.2563 ในกิจกรรมฉลองเทศกาลคริสต์มาส ไปจนถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564
เน้นไปที่สถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก 7 สถานที่ ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า โรงเรียน ร้านอาหาร สถานประกอบการ สถานบันเทิง สนามกีฬา สถานที่ท่องเที่ยว ที่สำคัญให้ขอความร่วมมือผู้ให้ผู้ “จัดกิจกรรม” และ “ผู้ร่วมกิจกรรม” ในพื้นที่สาธารณะปฏิบัติตาม มาตรการ สธ.อย่างเคร่ดครัด
ฉะนั้นอีเวนท์ปลายปีนี้ ทั่วประเทศ แม้รัฐบาลจะไฟเขียวให้จัดกิจกรรมบันเทิง แต่มาตรการจะเข้มข้นขึ้น เพื่อให้การเฉลิมฉลองในประเทศไม่เกิดเหตุเสี่ยงโควิดระบาดรอบสอง