ก่อร่างสร้างสมานฉันท์ “เรือเหล็กบิ๊กตู่” จะจมหรือถึงฝั่ง

ก่อร่างสร้างสมานฉันท์  “เรือเหล็กบิ๊กตู่” จะจมหรือถึงฝั่ง

โจทย์ของการสมานฉันท์​ปรองดอง ยุคปัจจุบันที่ ไร้ฝ่ายค้าน เข้าร่วม ผลลัพท์ที่เกิดขึ้น จึงมีเพียงเรื่องเดียว คือ การพารัฐนาวาของ “บิ๊กตู่” ให้อยู่รอดไปถึงฝั่ง เท่านั้นเอง

      เห็นโฉมหน้าครบแล้ว สำหรับกรรมการสมานฉันท์ในฝั่ง "รัฐบาล" ของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้ง6 คน

      ได้แก่ 1.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม, 2.เทอดพงษ์ ไชยนันท์ ส.ส.ประชาธิปัตย์, 3.สรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.ภูมิใจไทย, 4.นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ, 5.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ส.ว.สายข้าราชการ ที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 6.วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.สายสังคม และมาจาก คสช. คัดเลือก

160877295663

                 ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ส.ว.- วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.

      ต่อจากนี้ คือ การนัดประชุมเพื่อเดินหน้า “ก้าวแรก” ของการทำงาน โดยไร้ “ฝ่ายค้าน” และ “ผู้ชุมนุม ฐานะ คู่ขัดแย้งรัฐบาล” เข้าร่วม

      โจทย์ของการเดินหน้าสมานฉันท์​โดยไร้คู่ขัดแย้ง เดาได้ไม่ยากว่า คือ การเกื้อหนุนการทำงานของ “ฝ่ายรัฐ” ให้เดินหน้า

      โดยปราศจากสิ่งกวนใจ ที่เรียกว่า “ม็อบ”

      อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เคยมีคณะทำงานที่ว่าด้วยการสมานฉันท์ และปรองดอง เคยทำงานและศึกษาเรื่องแนวทางสมานฉันท์มาหลายยุค และในบริบทสังคมที่เต็มไปด้วย “ม็อบทางการเมือง”

      สิ่งที่เห็นตรงกันในยุคสมัยนั้น คือ การแก้ไขกติกาสูงสุดของประเทศ อย่างสมัยของ “ดิเรก ถึงฝั่ง”​ อดีตส.ว.ที่รับบท ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อ การปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในยุคของ “รัฐบาล - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่เผชิญหน้ากับกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มี “จตุพร พรหมพันธุ์” เป็นแกนนำในนามของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2552

160877327271

           ดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.

      ต่อมาได้ตั้ง คณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี “คณิต ณ นคร”​ เป็นประธาน เพื่อหวังจะชำระเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 พร้อมกับวางแนวทางการสร้างกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

      แต่สุดท้ายข้อเสนอที่สวยหรูก็ไปไม่ถึงฝั่ง เพราะคอป.ทำงานข้ามรัฐบาลมาถึงยุค "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ทำให้คอป.ที่เป็นเหมือนมรดกจากรัฐบาลอภิสิทธิ์กลายเป็นหมอกควันที่จางหายไปในที่สุด

      มาถึงยุค "บิ๊กตู่" ตั้งแต่คสช.ก็มีการพยายามสร้างกลไกสมานฉันท์ทั้งในส่วนของกระทรวงกลาโหมไปจนถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่เหมือนหนังถูกฉายซ้ำ เพราะตอนจบมีแต่ความว่างเปล่า

      ในเวลานี้แม้สถานการณ์ชุมนุมในตอนนนี้ ยังไม่ถึงขั้นสูญเสียเลือดเนื้อ ที่มีประจักษ์ชัดเจนว่า เป็นการกระทำของฝ่ายรัฐ เหมือนรอบที่ผ่านมา และที่ผ่านมาต้องยอมรับ ในมาตรการรับมือ กับการชุมนุม นั้นสามารถเลี่ยงความสูญเสียได้

      ดังนั้นความขัดแย้งที่หลงเหลือ หลัก คือ “ความไม่พอใจ” ในแง่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และถูกเลือกปฏิบัติด้านคดีจากฝ่ายรัฐ รวมไปถึงการครองอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานของ “พล.อ.ประยุทธ์” ทั้งในสมัย ยึดอำนาจ ปี 2557 เลยมาถึงปี 2563

      160877356142

       ไม่เพียงเท่านี้ กระบวนการสร้างความปรองดองที่ไม่ได้มีฝ่ายค้านเข้ามาร่วมด้วย ยิ่งทำให้เป็นหนามตำใจรัฐบาลมากขึ้นไปอีก เพราะการไม่มีฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ชุมนุม

      ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่รัฐบาลพยายามสร้างความปรองดองรูปแบบ "ชงเองกินเอง" จริงอยู่ที่ฝ่ายค้านอาจตั้งแง่เกินไป

      แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่มาเข้าร่วมด้วย เพราะรัฐบาลเองก็ตั้งแง่ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการห้ามนำข้อเสนอของผู้ชุมนุมเข้ามาในเวทีนี้

      ดังนั้น ที่สุดแล้วการสร้างความปรองดองจึงเปรียบได้กับการพยายามซื้อเวลาเพื่อให้รัฐบาลอยู่จนครบเทอมเท่านั้น ควบคู่ไปกับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

      เพราะหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้เมื่อไหร บวกกับคะแนนทางการเมืองที่ยังเป็นต่อคู่แข่ง "การยุบสภา" ก็อาจเกิดขึ้นก่อนที่กระบวนการสันติภาพจะจบลง ซึ่งจะยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า "ความปรองดอง" ในความหมายของรัฐบาลเป็นเครื่องเคียงเท่านั้น.