'กรุงเทพมหานคร' สั่งปิด 4 สถานจุดเสี่ยง สกัด 'โควิด-19' ระบาด เริ่มพรุ่งนี้!
เช็คคำสั่ง "กรุงเทพมหานคร" ปิด 4 สถานที่เสี่ยง "โควิด-19" เริ่ม 29 ธ.ค.ถึง 4 ม.ค.นี้
เวลา 17.30 ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงว่า การประชุมคณะกรรมการการโรคติดต่อ กทม. มีมติปิดสถานที่เพิ่ม 4 แห่ง เพื่อป้องกัน โควิด-19 ประกอบด้วย
1.สนามม้า
2.สนามชนไก่และสนามซ้อมชนไก่
3.สนามชนโค สนามกัดปลา และสถานที่อื่นๆ ที่อยู่ในลักษณะเดียวกัน
4.สถานบริการ
อัพเดทรายละเอียด : สรุป! 'กทม.' สั่งปิดอะไรบ้าง สกัด 'โควิด-19' ระลอกใหม่
ทั้งนี้ ให้ปิดตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2563 ถึงวันที่ 4 ม.ค.2564 เพื่อลดผลกระทบการติดเชื้อและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จะติดตามการระบาด โควิด-19 หากสถานการณ์ดีขึ้นจะมีการลดมาตรการลงในวันที่ 5 ม.ค.2564
"สำหรับสถานบริการที่จะมีการปิดนั้น ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ ฉบับ พ.ศ. 2509 มาตรา 3 หมายถึง สถานที่ที่มีอาหาร สุราหรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ มีดนตรี การแสดงดนตรี มีการจัดอุปกรณ์การร้องเพลงประกอบดนตรีให้แก่ลูกค้า โดยจัดให้มีผู้บริการขับร้องเพลงกับลูกค้า หรือยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้พนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น หรือจัดให้มีการแสดงเต้น มีการจัดแสงหรือเสียง มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อความบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. เป็นต้น"โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าว
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวอีกว่า หากเป็นผู้ประกอบการจะปรับรูปแบบสามารถทำได้ แต่ต้องปิดก่อนเที่ยงคืน และต้องไม่มีกิจกรรมข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้าข่ายนิยามสถานบริการ และต้องมีการดำเนินมาตรการควบคุมจำนวนคนในสถานที่ และกำหนดให้มีการเว้นระยะห่าง หากสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ได้ก็สามารถดำเนินกิจการต่อได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงหากควบคุมการระบาดโควิด-19 ไม่ได้ จะมีการเตรียมโรงพยาบาลสนาม เพราะยังมีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน
ก่อนหน้านี้ ได้มีการแจ้งให้ทุกหน่วยงานใช้แนวทางประชาสัมพันธ์ D M H T เพื่อป้องกันโควิด-19 โดย D หมายถึง Social Distancing เว้นระยะห่าง M หมายถึง Mask wearing สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน อยู่ในพื้นที่สาธารณะ H หมายถึง Hand washing ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และ T หมายถึง Testing การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การตรวจหาเชื้อเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว ลดการแพร่กระจายของเชื้อ
โดยต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจะช่วยป้องกันโรคได้ รวมทั้งต้องใช้แพลตฟอร์มไทยชนะทุกครั้ง นอกจากนี้ขอให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัวเอง 14 วัน และให้ข้อมูลที่เป็นจริงหากมีการสอบสวนโรค ในส่วนของเจ้าหน้าที่ได้กำชับให้เพิ่มความเข้มข้นการสอดส่องแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ เร่งสำรวจจุดที่พักและสถานที่ทำงานของแรงงานต่างด้าว เพื่อให้มีฐานข้อมูลเส้นทางการเดินทางของแรงงาน สำหรับสถานประกอบการหรือสถานบริการที่พบผู้ป่วยยืนยันและมีคำสั่งให้ปิดสถานที่
หากพบว่ามีการฝ่าฝืน ลักลอบเปิดกรุงเทพมหานครจะดำเนินการตามกฎหมายทันที ในส่วนของการดูแลผู้ป่วย โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครและเครือข่ายสถานพยาบาลได้เตรียมความพร้อมเตียงไว้สำหรับผู้ป่วย จำนวน 2,700 เตียง มีผู้ป่วยเข้าพักกว่า 200 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยได้อีก 2,500 เตียง
แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการทำงานของสำนักอนามัย การเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ มีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนมากขึ้น โดยมีนายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานครซึ่งกำกับดูแลสำนักอนามัยเป็นประธาน และนางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นรองประธาน มีสำนักอนามัย สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักการแพทย์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร