สลาย รปช.รวมตัว “ไทยภักดี” สู้ “ก้าวหน้า-ก้าวไกล-ม็อบสามนิ้ว”

สลาย รปช.รวมตัว “ไทยภักดี” สู้ “ก้าวหน้า-ก้าวไกล-ม็อบสามนิ้ว”

แบรนด์ของพรรค รปช.ไร้จุดเด่น และไม่แข็งแรงพอที่จะขับเคลื่อนการเมือง และเมื่อ “พรรคไทยภักดี” ก่อกำเนิดขึ้น โดยมีจุดยืนทางการเมืองที่แข็งแรงกว่า จึงมีโอกาสสูงที่ “สุเทพ” จะยอมกลืนเลือดทิ้งพรรครปช. มาแบ็คอัพให้ “พรรคไทยภักดี”

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี เปิดตัว “พรรคไทยภักดี” โดยประกาศเจตนารมณ์ต่อสู้กับ พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และม็อบสามนิ้ว

 

หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของ “กลุ่มไทยภักดี” เกิดขึ้นหลังจากที่ “หมอวรงค์” ตัดสินใจหอบข้าวของออกจาก “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” (รปช.) ทั้งที่มีชื่อเป็นตัวเต็งนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคแทนที่ “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่ทำงานไม่ผ่านโปร แถมต้องทิ้งเก้าอี้ รมว.แรงงาน ไปด้วย

 

ก่อนออกจากพรรค รปช. “หมอวรงค์” เข้าไปปรึกษาหารือกับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครปช. พร้อมยอมรับว่าปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน การสังกัดพรรคการเมืองทำให้มีข้อจำกัดในการหาแนวร่วมและไม่คล่องตัว จึงตัดสินในขอลาออกจากพรรครปช.

 

เดือน ส.ค.2563 “หมอวรงค์” ประกาศตั้ง “กลุ่มไทยภักดี” โดยระยะเวลากว่า 6 เดือน กลุ่มไทยภักดีออกมาเคลื่อนไหวทางเมืองชูการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเลือกยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม “กลุ่มราษฎร” อย่างชัดเจน

 

ต้องยอมรับว่า “กลุ่มไทยภักดี” แม้จะไม่หวือหวา-ไม่ปังเท่าที่คาดหมายกันเอาไว้ เพราะแทบจะไม่มีตัวชูโรงที่พอจะดึง “มวลชน-แฟนคลับ” ได้ แต่จุดเด่นคือ “แฟนคลับ” ที่มีอยู่เหนียวแน่นพอสมควร และยังสามารถเติมผู้ร่วมอุดมการณ์ให้มากขึ้นได้ไม่ยาก

ฉากหลังที่ “หมอวรงค์” ตั้งกลุ่มไทยภักดี ไม่ว่าจะถามใครต่อใคร ก็เชื่อกันว่ามี “สุเทพ” อยู่เบื้องหลัง โดยยังจับมือกันแน่น ไม่ได้แยกสายกันเดิน และมีจุดหมายเหมือนกันคือ “ร่วมกันตี”

 

เพราะอ่านเกมว่า “ขั้วตรงข้าม” ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี แต่คือเครือข่ายของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ที่ครองใจกลุ่มคนรุ่นใหม่

 

เมื่อ “หมอวรงค์” ตั้งพรรคไทยภักดี แม้จะอ้างว่าไม่มีกลุ่มทุน ไม่มีนายทุน ไม่มีเจ้าของพรรค แต่การขับเคลื่อนพรรคการเมืองย่อมต้องใช้เงินทุน อยู่ที่ว่าจะเป็นทุนรายใหญ่ หรือทุนรายย่อย

 

ช่วงที่ “สุเทพ” ตั้งพรรค รปช.ยังระดมทุน โดยจัดงานกาล่าดินเนอร์ 240 โต๊ะ โต๊ะละ 1 ล้านบาท รวมยอดเงิน 240 ล้านบาท ที่นำมาขับเคลื่อนพรรค ดังนั้นต้องรอจับตาว่า “พรรคไทยภักดี” จะใช้วิธีการระดมทุนอย่างไร เพราะมี “นายทุน” หลายคนอยากร่วมลงขันด้วย

 

มีกระแสข่าวว่า “สุเทพ” อาจจะปล่อยให้ “หมอวรงค์” ขับเคลื่อนพรรคไทยภักดีด้วยตัวเอง เพื่อขจัดข้อครหาที่อาจถูกนำไปเชื่อมโยง เหมือนที่พรรค รปช.โดนดิสเครดิตมาตลอด ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรค รปช.ไร้พลังต่อรองทางการเมือง

 

ที่เห็นได้ชัด ในการปรับครม.เมื่อ รปช.ถูกแรงบีบจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้คืนเก้าอี้กระทรวงแรงงาน แม้ “สุเทพ” ไม่อยากคืน หรือแม้แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม จะเกรงอกเกรงใจผู้สนับสนุนอย่างสุเทพ แต่ก็ไม่อาจทัดทานพลัง เสือ สิงห์ ในค่าย พปชร.ได้

มาถึงจุดนี้ เมื่อแบรนด์ของพรรค รปช.ไร้จุดเด่น และไม่แข็งแรงพอที่จะขับเคลื่อนการเมือง และเมื่อ “พรรคไทยภักดี” ก่อกำเนิดขึ้น โดยมีจุดยืนทางการเมืองที่แข็งแรงกว่า จึงมีโอกาสสูงที่ “สุเทพ” จะยอมกลืนเลือดทิ้งพรรครปช. มาแบ็คอัพให้ “พรรคไทยภักดี”

 

ลำพัง “หมอวรงค์” หัวเดียวกระเทียมลีบ คงยากที่จะตั้งพรรคขึ้นมาแล้วขับเคลื่อนไปสู่จุดหมาย เพราะต้องอาศัยคอนเนกชันการเมือง “ระดับเทพ” มาช่วยประคับประคอง

 

ถึงเวลาที่ “สุเทพ” ต้องเดิมพันครั้งใหม่ เป็นเดิมพันที่ใหญ่กว่า เพราะรู้ดีการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นการสู้กันอย่างเปิดหน้าระหว่าง “กลุ่มขวาจัด” vs “กลุ่มซ้ายจัด” โดยมีอนาคตของประเทศไทยเป็นเดิมพัน

 

การตั้งพรรค “ขวาจัด” ของ “หมอวรงค์” จึงเป็นการส่งสัญญาณสู้ไม่ถอย และต้องรอติดตามแบ็คอัพที่จะค่อยๆ ปรากฎกายในเวลาที่ต้องเปิดหน้าสร้างกระแสดึงกลับมวลชน