จับตา 'สหรัฐฯ -นานาชาติ' คว่ำบาตร 'เมียนมา' กับจุดยืน 'อาเซียน'
'ปณิธาน' แนะรอดูแถลงการณ์ 'สหรัฐฯ -นานาชาติ' คว่ำบาตร 'เมียนมา' หลัง 'รัฐประหาร' ห่วงสถานการณ์ผกผันชายแดน และท่าทีแรงงานเมียนมาในไทย เชื่อกระทบ 'รัฐบาลประยุทธ์' โดยตรง
1 ก.พ.2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ ถึงการทำรัฐประหารในเมียนมาว่า หากมองในภาพรวมของอาเซียนจะไม่มีความเห็นหรือแถลงการณ์ที่เป็นทางการ เพราะอาเซียนมีหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน แต่ในบางประเทศที่เป็นสมาชิก เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ จะมีการแถลงการณ์อิสระซึ่งจะมีจุดยืน สนับสนุนประชาธิปไตยและต้องการให้เกิดความราบรื่นในการเปลี่ยนผ่าน
ในขณะที่ไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันมากที่สุด ต้องดูสถานการณ์ไปก่อนถ้ามีความจำเป็น ก็ต้องมีการแถลงการณ์ในเรื่องการสนับสนุนให้มีการพูดคุย และให้เปลี่ยนผ่านไปด้วยความราบรื่น ไม่ให้เกิดความรุนแรง นอกจากนี้ต้องดูท่าทีของต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาน่าจะมีแถลงการจุดยืนในเร็วๆนี้
" เพราะคนที่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลกิจการของเอเชียแปซิฟิก หรือ อินโดแปซิฟิก อย่าง เคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา คงจะมีแถลงการณ์ออกมาอย่างชัดเจนขึ้น หลังจากที่ได้เห็นความชัดเจนและทิศทางการเปลี่ยนแปลงในเมียนมา และทีท่าเหล่านี้ จะมีเรื่องความกดดัน ในหลายรูปแบบให้กลับไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะไปสอดคล้องกับบทบาทใหม่ของสหรัฐฯที่ต้องการจะรณรงค์และกระตุ้นให้มีการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะฉะนั้นทางสหรัฐกับสหภาพยุโรปและหลายประเทศในตะวันตกก็อาจจะมีแถลงการณ์กดดัน ต่อกลุ่มที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการเมืองโดยเฉพาะกลุ่มทหาร ซึ่งอาจจะแตกต่างกับท่าทีของอาเซียน"
ส่วนผลกระทบที่จะตามมาในระยะสั้นนั้น ต้องควบคุมความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆรวมทั้งชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนมากขึ้นซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานความมั่นคงของไทยก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะรองรับสถานการณ์ ดูแลการเข้าออกตามแนวชายแดนให้ดี เพราะขณะนี้อยู่ในระหว่างการปิดชายแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด- 19 อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อมีการควบคุมชายแดนหรือกิจการของกลุ่มต่างๆโดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ จะเกิดความแปรปรวนได้บ้างทางเราก็ต้องควบคุมชายแดนให้ดีขึ้น
ส่วนอีกกรณีก็คือ กลุ่มที่สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย หรือสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมา คงจะเคลื่อนไหว ซึ่งก็มีแถลงการณ์ออกมาบ้างแล้ว ตรงนี้จะต้องให้เกิดความชัดเจนว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มประชาชน เพียงแต่การดูแลตรงนี้ ไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็ต้องดูตามกรอบของกฎหมายไม่ให้ความเคลื่อนไหวตรงนี้ไปกระทบ
รวมถึงประชากรของเมียนมาที่เข้ามาใช้แรงงานอยู่ในประเทศไทยหลายล้านคน ซึ่งต้องดูกันไปในระยะกลาง หากทหารเมียนมา ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในเวลาอันสั้นปัญหาก็ไม่มาก แต่ถ้าหากสถานการณ์ทอดยาวออกไป กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยที่เป็นคนเมียนมาในเมืองไทยอาจจะมีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็ต้องระมัดระวังและรอบคอบ ซึ่งกลุ่มนี้มีความคิดเสรี ต้องการให้เมียนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และความอิสระของอองซานซูจี ตรงนี้ต้องดูความเคลื่อนไหวต่างๆของคนในเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยให้เกิดความเรียบร้อย อย่าให้มีปัญหา
อ.ปณิธาน กล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกันก็ต้องดูสถานการณ์ในเมียนมาว่าจะมีความผกผันอะไรหรือไม่ เพราะในรอบหลายปีคะแนนนิยมของอองซานซูจีก็ลดน้อยลง รวมถึงการสนับสนุนของนานาชาติก็น้อยลงเช่นเดียวกัน เศรษฐกิจก็มีปัญหามากขึ้น ก็อาจจะเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลอองซานซูจี
รวมทั้งการเลือกตั้งที่ไม่ค่อยเรียบร้อย เนื่องจากปีที่ผ่านมา กกต.ของพม่าก็ออกมายอมรับว่าบัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่เรียบร้อย เพียงแต่ไม่คิดว่าจะมีน้ำหนักพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะนำไปสู่รัฐประหาร
จากนี้ไปต้องดูว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ทหารเมียนมาต้องการให้มีการเลื่อนการประชุมรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ออกไป ซึ่งก็คงจะสำเร็จแล้ว และต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่ และนับบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ใหม่ เพราะเขาเชื่อว่ามีการ ทุจริตกันอย่างกว้างขวาง ต้องดูว่าตรงนี้เขาจะมีการเจรจาพูดคุยกันอย่างไร เพราะในหลายวันที่ผ่านมาก็ล้มเหลว แต่ถ้ามีการเจรจารอบใหม่ ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่ดีก็เป็นเรื่องที่ดีเราก็ต้องสนับสนุนให้มีการพูดคุยกัน เพราะเท่าที่ผ่านมาก็เกิดความล้มเหลวในการพูดคุย
แต่ในขณะเดียวกันผู้นำทางทหารเมียนมาก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรุ่นเก่าไปสู่รุ่นใหม่เพราะคนที่ออกมาเมื่อแสดงท่าทีเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่จะขึ้นมาแทน มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ภายในปีนี้ก็ต้องดูบทบาทของคนใหม่ว่าจะควบคุมสถานการณ์ ไม่ให้มีการชุมนุมประท้วงได้หรือไม่ รวมถึงแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเมืองอย่างไร แต่ทั้งหมดนี้จะค่อนข้างผกผัน ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และเราก็ไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารในประเทศเมียนมามากนะเนื่องจากว่าถูกควบคุม ทั้งหมด อาจจะมีความคลาดเคลื่อนและคงต้องรอการตรวจสอบให้ดี แต่ในภาพรวมยังไม่มีอะไรที่เป็นความรุนแรง แต่เราเห็นความรุนแรงหลายระลอกมาแล้วในประเทศพม่าก็จะเกิดความกังวลซึ่งละรอบนี้ก็ต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน
"ต้องดูเรื่องตามแนวชายแดนซึ่งอาจจะมีการหลบหนีเข้ามามากขึ้นเพราะอาจจะมีการกวาดล้าง หรือมีการเคลื่อนไหวจัดตั้งกองกำลัง ติดอาวุธเพื่อต่อสู้เพราะทุกวันนี้ก็มีอยู่แล้ว และจะหากองกำลังเหล่านี้สนับสนุนอองซานซูจีและต่อสู้กับพม่าเราก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เขาใช้พื้นที่บ้านเราเป็นฐาน และดูความเคลื่อนไหวในไทย เราไม่อยากพูดให้เร็วเกินไปว่าคนในประเทศไทยจะมีการเคลื่อนไหว แต่ในความเป็นจริงก็คงต้องระวัง ความเคลื่อนไหวต่างๆถ้าทหารเมียนมามีเหตุผลที่ดี สถานการณ์ปัญหาก็อาจจะน้อย แต่ถ้าไม่ได้รับการยอมรับจากการยึดอำนาจและถูกต่อต้าน สถานการณ์ก็อาจจะผกผัน อันนี้ต้องรอดูระยะกลาง"
อ.ปณิธาน กล่าวต่อว่า แต่ในระยะใกล้นี้ประเด็นก็ต้องดูจากนานาชาติ จะมีปฏิกิริยาอย่างไรโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร เชื่อว่ากำลังออกแถลงการณ์ และยังมีอีกหลายฝ่าย ที่จะกดดันคว่ำบาตรเมียนมา ซึ่งอาเซียนก็คงไม่เห็นด้วย เพราะเมียนมา ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน ต้องดูปฏิกิริยาของอาเซียนและของไทย
เมื่อถามว่า การทำรัฐประหารในเมียนมาจะส่งผลกระทบทางอ้อมกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือไม่ อ.ปณิธาน กล่าวว่า ได้รับส่งผลกระทบโดยตรงอยู่แล้ว ขณะนี้ไม่ว่านายกฯจะแสดงความเห็นไปในทิศทางใดก็จะถูกโจมตีทั้งหมด เพราะฉะนั้นการแสดงบทบาทก็จะต้องดูที่ความเหมาะสม ยึดความสมดุล และดูสภาพความเป็นจริงว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ถ้าเกิดความรุนแรงก็ต้องออกมาแสดงความเป็นกังวล แต่ถ้าหากมีทะลักเข้ามาตามแนวชายแดนก็ต้องดู แต่นายกก็อาจจะโดนทั้งขึ้นทั้งล่องถือเป็นเรื่องธรรมดาเชื่อว่าหลายกลุ่มก็อาจจะอาศัยประเด็นนี้ในการเคลื่อนไหว
แต่อย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องให้กำลังใจกับประชาชนเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยให้สามารถเปลี่ยนผ่านสถานการณ์ไปด้วยดี เพราะเขาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง และเราก็ต้องพึ่งพาแรงงานพม่า สิ่งที่เราทำได้ขนาดนี้ก็คือการให้กำลังใจและให้เปลี่ยนผ่านไปในทิศทางที่เหมาะกับเมียนมาร์ซึ่งถือว่ารัฐบาลทำได้ เชื่อว่าขณะนี้ประชาชนชาวเมียนมาร์ก็น่าจะอกสั่นขวัญแขวนเพราะว่าได้รับผลกระทบในหลายๆด้าน