'หน้ากาก-ถุงมือยาง-แต่งตั้ง' ปมถล่ม ‘จุรินทร์-ปชป.’
หากข้อกล่าวหาฝ่ายค้านสามารถเปิด “หมัดน็อค” ไปถึงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมมีผลถึงการเลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีธรรมราชไปด้วย
ถูกล็อคเป้าครั้งแรก สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” เมื่อ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีรมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกกาชื่อเป็น 1 ใน 10 รัฐมนตรีที่ถูกพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นเปิดอภิปรายในครั้งนี้
จากข้อกล่าวหาที่พุ่งเป้าไปที่ “จุรินทร์” ในฐานะสวมหมวกตำแหน่งทางการเมือง 3 ใบ ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเขียนในญัตติยื่นซักฟอกต่อชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีข้อกล่าวหาว่า “บริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญาไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้สำนึก ไร้ความรับผิดชอบ ลอยตัวหนีปัญหา เลือกปฏิบัติ พูดอย่างทำอย่าง” และ “แต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ เข้ามาเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง”
สำหรับข้อกล่าวหาของพรรคร่วมฝ่ายครั้งนี้ “จุรินทร์” ออกมายืนยันความพร้อมการตอบทุกคำถามทุกเรื่อง และมั่นใจในความซื่อสัตย์สุจริตในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะประโยคที่เคยสัมภาษณ์ไว้ว่า “คนไม่โกงไม่มีความจำเป็นต้องกลัวอะไร”
แต่ภายในพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดทีมสนับสนุนข้อมูลให้ “จุรินทร์” ที่ถูกอภิปรายโดยคาดการณ์ว่า ประเด็นที่ถูกยื่นซักฟอก น่าจะมาจากการบริหารงานในกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง “หน้ากากอนามัย” โดยเฉพาะข้อกล่าวหาพ่วงที่ว่า แต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติความรู้ความสามารถ เข้ามาเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง
หากย้อนกันไปในช่วงการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ในระลอกแรก ซึ่งเป็นช่วงหน้ากากอนามัยเริ่มขาดตลาด ปรากฏการณ์ในครั้งนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงการกักตุนและส่งออกหน้ากากอนามัย ตั้งแต่ “อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ออกมาเปิดเผยว่า มีขบวนการค้าหน้ากากอนามัยทั้งในและต่างประเทศ โดยเชื่อมโยงกับนักการเมืองหลายกลุ่มโดยมี “หญิงสาว” ที่เป็นปรึกษารัฐมนตรีในรัฐบาลรับส่วนต่างจากบริษัทที่มีการส่งออกหน้ากากอนามัยไปยังต่างประเทศ และมีข้อมูลว่ามีบริษัทเอกชนเกี่ยวข้องกับการหายไปของหน้ากากอนามัยครั้งนี้ด้วย
โดยเฉพาะประเด็นที่ “อัจฉริยะ” เชื่อว่า มีพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองหนึ่งในรัฐบาล จับมือกับอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พุ่งเป้าไปในสิ่งที่ “จุรินทร์” เคยออกมาแถลงข่าวยืนยันว่ามีหน้ากากอนามัยในสต็อกกว่า 200 ล้านชิ้น และสามารถผลิตได้กว่า 100 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่ความต้องการใช้ในประเทศไทยประมาณ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งส่วนใหญ่นำไปใช้ในบุคลากรทางการแพทย์ จึงมีข้อสงสัยว่าหน้ากากอนามัยหายไปกว่า 60 ล้านชิ้น
“อัจฉริยะ” ยังไปร้องเรียนต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ให้ดำเนินคดีต่อจุรินทร์ และนายวิชัย โภชนกิจ อดีตอธิบดีกรมการค้าภายในและพวกฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามกฎหมายอาญา ม.157 รวมถึงร้องเรียนต่อ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น ให้สืบสวนดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิด
ขณะที่อีกหนึ่งประเด็นฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พยายามเชื่อมโยงถึงสิ่งที่ “จุรินทร์” แต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติเข้ามาเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกันที่ “อัจฉริยะ” เชื่อว่าคาบเกี่ยวไปถึงที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จนเป็นที่มาของพรรคประชาธิปัตย์ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ “มัลลิกา บุญมีสกุล” ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์แต่ผลการสอบสวนออกมาว่าไม่พบความผิด ทำให้กรณีนี้ “จุรินทร์-มัลลิกา” ได้มอบอำนาจให้ทนายความดำเนินคดีนายอัจฉริยะควบคู่กันไปด้วย
ไม่ใช่แค่นั้น ประชาธิปัตย์ยังเก็งข้อสอบไปที่ประเด็นเรื่อง “ถุงมือยาง” ขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ในกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ จากกรณีการสืบสวนกรณีการจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง กล่องละ 225 บาท รวม 112,500 ล้านบาท ที่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาราชการแทน ผู้อำนวยการ อคส.ดำเนินการโดยมิชอบ ผิดระเบียบไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ(บอร์ด) อคส.
ทำให้ “อคส.” ยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการตามกฎหมายรวมถึงอายัดเงิน และตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้เชื่อมโยงไปถึง “จุรินทร์” โดยตรง แต่กลับเป็นประเด็นนี้ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านพุ่งไปที่ “การบริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง” แต่ก่อนหน้านี้ “จุรินทร์” ยืนยันการสั่งให้ อคส.ดำเนินการตั้งกรรมการสอบสวนทั้งหมดตรงไปตรงมาไม่มียกเว้น และไม่ได้กังวลฝ่ายค้านจะนำมาใช้เป็นประเด็นในการซักฟอก
แน่นอนว่า “ประชาธิปัตย์” จะใช้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ แสดงท่าทีบทบาทรัฐมนตรีที่พร้อมถูกตรวจสอบในฐานะพรรคการเมืองที่ชูความโปร่งใสและซื่อสัตย์สุจริต ในทางกลับกัน หากข้อกล่าวหาฝ่ายค้านสามารถเปิด “หมัดน็อค” ไปถึงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ย่อมมีผลไปถึงการเลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีธรรมราชไปด้วย.