วิบากกรรม‘คดีรุกป่า’ ชี้ชะตา‘ปารีณา’-จับตา‘ธนาธร’
จาก "คดีรุกป่า" ทำไปทำมาลามกลายเป็นปมร้อนที่สั่นคลอนสถานะการเมืองโดยเฉพาะในส่วนของ "ปารีณา" ซึ่งอยู่ในสถานนะส.ส.และถูกปปช.ตั้งข้อกล่าวหา "ผิดจริธรรมร้ายแรง" ที่เสี่ยงขาดคุณสมบัติ
กลายเป็นวิบากกรรมที่อาจสั่นสะเทือนสถานะ ส.ส.รวมถึงอนาคตการเมืองของ “เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากล่าสุดเธอถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล “ผิดจริยธรรมร้ายแรง” ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ผลประโยชน์ขัดกัน กรณีบุกรุกป่าสงวนในพื้นที่ จ.ราชบุรี ขั้นตอนต่อไป ป.ป.ช.จะสรุปสำนวนเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาเพื่อดำเนินการเอาผิดปารีณาตามกฎหมาย
ย้อนไทมล์ไลน์ของคดีดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.)ได้รวบรวมพยานจนมีหลักฐาน เข้าข่ายการกระทำความผิด “4 ข้อหา” ประกอบไปด้วย
1.ความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 และ 31 ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่โดยไม่ได้รับอนุญาต
2.ความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
3.ความผิดตามประมวลกฎหมายฐาน กระทำด้วยประการใด ให้เป็นการทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน บริเวณที่มีการประกาศหวงห้าม หรือ ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดิน โดยกระทำเป็นเนื้อที่เกินกว่าห้าสิบไร่ โดยไม่ได้รับอนุญาต
และ 4.ความผิดตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 ร่วมกันประกอบกิจการน้ำบาดาลในเขตน้ำบาดาลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดิน ในเขตน้ำบาดาลโดยไม่ได้รับอนุญาต
ก่อนที่ บก.ปทส.จะยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาไต่สวนจริยธรรมกระทั่ง ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดจริยธรรมร้ายแรงในท้ายที่สุด
สำหรับ “ปารีณา”นั้นยังต้องไปลุ้นด่านสุดท้ายนั่นคือ “คำพิพากษาศาลฎีกา” ซึ่งเป็นเสมือน “ด่านชี้ชะตา” ว่าจะ"รอด"หรือ "ร่วง"?
โดยบทบัญญัตติในมาตรา 235 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญระบุว่า เมื่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง ในกรณีที่ศาลมีคําพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกําหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้
ขณะที่มีมาตรา 235 วรรคสี่ ยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใดๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีการนำไปเทียบเคียงกับคดีที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ที่ถูกกล่าวหาในลักษณะเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2563 “อดิศร นุชดำรงค์” อธิบดีกรมป่าไม้ ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ ปทส.เอาผิด “ธนาธร” และ “สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” มารดาในข้อหากระทำผิดครอบครองที่ดิน ภทบ.5 และครอบครองที่ดิน นส.2 โดยมิชอบ
ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 4 ก.พ.2564 กรมป่าไม้ได้แจ้งความร้องทุกข์ เพิ่มเติมกับ “ธนาธร” “สมพร” และพี่สาว “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” ฐานใช้เอกสารที่ออกโดยมิชอบมาครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี จำนวน 2,154-3-82 ไร่
“2 คดีรุกป่า” ที่เกิดขึ้นแม้จะเหมือนกันตรงที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นบุคคลในแวดวงการเมือง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความต่างกันอยู่ตรงที่ คดีของ “ปารีณา” ผู้ถูกกล่าว “เป็น ส.ส.” และเป็นความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ดังนั้นหากศาลตัดสินว่ามีความผิด นอกเหนือจากจะต้องหลุด ส.ส.ด้วยข้อหา“ผิดจริยธรรมร้ายแรง” อาจกระทบไปถึงอนาคตการเมือง ที่เสี่ยงถึงขั้นถูกตัดสิทธิลงสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต
ต่างจากคดีของ “ธนาธร” ที่ขณะนี้อยู่ในสถานะ “บุคคลธรรมดา” หากท้ายที่สุดศาลตัดสินว่าผิดจริงก็อาจเป็นเพียงความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวน รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาจมีผลต่ออนาคตการเมืองน้อยกว่าเคสของปารีณา
จากความเหมือนและความต่างนี้เอง คงต้องไปลุ้นกันว่า ที่สุดแล้วทั้ง 2 คดีจะมีบทสรุปออกมาอย่างไร