'ทนายบิลลี่' แจงสวนมติก้าวไกลไม่ลงชื่อแก้ม.112 รับเห็นต่างปมตัดบทลงโทษ
“ทนายบิลลี่” 1 ใน 9 ส.ส.ก้าวไกลที่ไม่ลงชื่อแก้ ม.112 แจงเห็นด้วยกับการแก้ ม.112 ต้องคงบทลงโทษไว้ พร้อมปรับแก้เหมาะสม
นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล ชี้แจงถึงกรณีที่เป็น 1 ใน 9 ส.ส. ของพรรคก้าวไกล ที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อในการเสนอแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งไม่เป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ของพรรคก้าวไกล ว่า เรื่องนี้ต้องขยายความ เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจกับประชาชนที่มีความคาดหวังต่อพรรค ความคาดหวังต่อคนที่เลือกเรามา โดยประเด็นที่จะแสดงความเห็นนี้เป็นความเห็นส่วนตัว มีกรอบ คือ ต้องไม่กระทบกับพรรคและไม่กระทบกับสมาชิกที่ได้ลงชื่อไปทั้งหมด 40 กว่าคน
โดยขออธิบายว่ามาตรา 112 ที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ ถ้าเราย้อนกลับไป ตั้งแต่ปี 2550 การใช้มาตรา 112 แม้กระทั้งรัฐบาลที่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ถ้าเราเห็นสถิติในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี เป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้นรัฐบาลเองในหน่วยงานที่กำกับการใช้มาตรา 112 นำกฎหมายมาตรา112 มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ สิ่งที่ผมจะเรียนคือว่า ผมเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 แต่มันยังมีมิติบางมุมในทางเนื้อหาและวิธีการแก้ไขซึ่งอาจจะเห็นต่างจากพรรค ซึ่งต้องเคารพมติพรรค
แต่ในทางกลับกันต้องหันมาหาเอกสิทธิส่วนตัวของความเป็น ส.ส.เหมือนกัน ซึ่งภาพรวมที่ได้เรียนไปแล้ว ในรายละเอียดเล็กลงมาก็คือว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทางการเมือง มันคือเกิดขึ้นกับมาตรา 112 ด้วย ว่ามันเป็นความเห็นที่แบ่งกันออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าควรจะแก้ แต่แก้มากแก้น้อยเป็นอีกเรื่องนึง แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรแก้ ดังนั้นในความเห็นของตนที่เป็นนักการเมือง คือเราต้องหาความประนีประนอมของทั้งสองฝ่าย ในกรณีที่มีความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง
ความเห็นของตนซึ่งเห็นด้วยในการแก้ไขมาตรา 112 แต่ในมิติของตนเห็นว่าถ้าเราจะแก้ มาตรา 112 ควรที่จะยังคงมาตรา 112 ไว้ก่อน แล้วลดโทษลงมาได้ไหม ซึ่งในการที่มีการปรับแก้มาตรา 112 ล่าสุด คือสมัยที่มีการปฏิวัติของพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ แล้วมีการใช้คำสั่งคณะปฎิรูป จากเดิม 7 ปี ก็เปลี่ยนมาเป็น 3-15 ปี ซึ่งมันเป็นโทษค่อนข้างสูง และบริบททางการเมืองในวันนั้นกับวันนี้อาจจะต่างกัน แต่ในวันนี้เรื่องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนพัฒนาการไปแล้ว จึงเห็นว่าในการขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันอาจจะต้องคงมาตรา 112 ไว้ก่อนส่วนว่าจะยกหมวด หรือแยกหมวด เราควรจะต้องพูดคุยกันในวาระต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องของการพิจารณาทางกฎหมาย
ดังนั้นในความเห็นของตน ถ้าหากจะต้องเซ็นก็คิดว่าคงมาตรา 112 ไว้ แล้วปรับลดโทษลงมา ทีนี้ในทางกระบวนการนิติบัญญัติที่สำคัญที่สุดเวลาที่กฎหมายมันจะผ่านออกไปได้มันต้องผ่านทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงต้องรอดพ้นจากการตีความของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นในทางการเมืองผมมองในความเป็นไปได้ในทางการเมือง และอยากที่จะมีความประนีประนอม อย่างไรก็ตามตนเคารพมติพรรคและเพื่อนสมาชิกเพื่อนทุกคน แต่ว่าอันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวที่ต้องแสดงทัศนะผ่านพี่ ๆ สื่อมวลชน รวมถึงประชาชนที่รอฟังทางบ้าน ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ 9 รายชื่อ แต่ว่า 1 ใน 9 รายชื่ออันนี้คือความเห็นส่วนตัวของผมและที่ผ่านมาได้ชี้แจงผ่านกระบวนการที่ประชุมของพรรค แต่ว่าในรายละเอียดมันเป็นเรื่องภายในพรรคขออนุญาตไม่พูด แต่ว่าได้ผ่านกระบวนการที่ประชุมพรรคตามปกติ
นายจิรวัฒน์ ยังต่อถึงกรณีที่พรรคมีนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 แต่ส่วนตัวเห็นไม่ตรงกัน จะไปขัดแย้งกับพรรค และจะมีผลอะไรหรือไม่ ว่า เดิมทีถ้าเราย้อนกลับไปดูบทให้สัมภาษณ์ในการก่อตั้งอดีตที่ผ่านมา ซึ่งตนเคยอยู่พรรคอนาคตใหม่ จริง ๆ แล้วไม่มีนโยบายในการแตะมาตรา 112 แต่ว่าด้วยความที่ว่าปัจจุบันเราต้องยอบรับตามตรงว่ามันมีการใช้มาตรา 112 ที่ผิดวัตถุประสงค์ อย่างที่บอก คือมันมีการใช้ที่มีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ และเป็นการใช้ที่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตรงนี้นี่แหละที่มันเกิดความเร่งเร้า เนื่องจากรัฐบาลนำมาตรา 112 เปรียบเสมือนนำมาเป็นนโยบายของรัฐบาลในการจัดการกับผู้ชุมนุม มันจึงเกิดกระแสการแก้ไขมาตรา 112 ดังนั้นวันนี้ไม่ต้องกลับไปถามเลยว่าใครเป็นคนที่ปลุกปั่น ยุยงให้เกิดมิติในด้านของการเกิดกระบวนความคิดที่ต้องมีการแก้ ดังนั้นมาตรา 112 เปรียบเสมือนรัฐบาลนำมาใช้เป็นนโยบาย ดังนั้นพรรคก้าวไกลเห็นว่าต้องมีการแก้ การแก้ไม่ได้หมายถึงว่ากระทบในมติ หรือหย่อนในเรื่องของสถาบัน แต่เราอยากเห็นว่า การนำใช้มาตรา 112 ต้องไม่ใช่การใช้ผิดวัตุประสงค์ และต้องไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมประชาชน แต่เนื้อหาและวิธีการอาจเห็นต่างกันได้ ซึ่งได้ชี้แจงแล้วว่าผมเห็นต่างอย่างไร
ส่วนการที่ไม่ลงชื่อจะมีผลของคนภายนอกที่มองเข้าไปในพรรคไหมว่า มีความไม่เป็นเอกภาพเกิดขึ้นนั้น นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า การเมืองหากย้อนกลับไป มันมีการถกเถียงกันมากมาย มันเป็นเรื่องพื้นฐานของประชาธิปไตยคือมันมีความเห็นแตกต่างกันได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วกฎหมายก็ต้องเข้าสู้กระบวนการ แต่ตนอยากจะให้ประชาชนที่อาจจะมีความคาดหวัง แล้วเป็นประเด็นที่มีความเป็นกฎหมายพิเศษอยู่แล้ว กลับกลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองที่ค่อนข้างจะร้อนแรง แน่นอนว่าประชาชนอาจจะมองและวิเคราะห์ว่ามีความขัดแย้งอะไรหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ มันเป็นเรื่องประชาธิปไตยภายในพรรคและเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัว และตนขออนุญาตสงวนความเห็นไว้ตรงนี้
“ดังนั้นผมเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 แต่อาจเห็นต่างกันในเนื้อหาและวิธีการในการแก้ไข ซึ่งผมเห็นว่าควรคงมาตรา 112 ไว้ แต่ให้ลดโทษจากที่มีอัตราโทษสูงตั้งแต่ 3-15 ปี นั้นให้ลดลงไม่เกิน 3 ปีเหมือนสมัยรัชกาลที่ 5 หรือให้สอดคล้องกับความทันสมัยของโลกและบ้านเมืองปัจจุบันก็ควรปรับลดลงมาอีกอาจเหลือไม่เกิน 1 ปี หรือน้อยกว่า 1 ปี เป็นต้น และควรจำกัดผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษที่เป็นผู้เสียหายจริง ๆ เช่น ให้กรมราชเลขานุการในพระองค์เป็นผู้กล่าวโทษ หรือนากยกรัฐมนตรี เป็นผู้กล่าวโทษได้เท่านั้น” นายจิรวัฒน์ กล่าว